ร่างกม.คุ้มครองข้อมูลฯขาด “ความยินยอม” หัวใจหลัก ส่วนร่างกม.ทวงหนี้ กระทบสิทธิแต่ผ่านฉลุย

2015.02.19 12:50

นักกฎหมายชี้ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้มาตรฐาน EU เพราะ “ขาดหัวใจหลัก” คือการขอความยินยอมในขั้นเก็บข้อมูล สร้างอุปสรรคการค้ากับต่างประเทศ ร่างกฎหมายยังเขียนไว้กว้าง เปิดช่อง “กฎกระทรวง” และ “ประกาศคณะกรรมการ” เนื้อหาในร่างฯ เต็มไปด้วยข้อยกเว้น จนไม่รู้ว่าจะมีกฎหมายนี้ไปทำไม

เสวนา "วิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …"

เสวนา “วิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …” (17 ก.พ. 2558)

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีสัมมนาหัวข้อ “วิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …” ณ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น มีผู้ร่วมสัมมนาได้แก่ กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น และอรวิภา พึ่งเงิน นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน

ทั้งนี้ การสัมมนาเวทีย่อยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตและการเตรียมตัวขององค์กรประชาสังคมในประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเอเชีย, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, โครงการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมปลอดพนันภายใต้มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และองค์กรเครือข่าย

“หัวใจหลัก” ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล: ต้องขอความยินยอมทั้งตอน เก็บ ใช้ เผยแพร่

คณาธิปกล่าวว่า ปัจจุบันเราถูกเก็บข้อมูลจากทั้งรัฐและเอกชน และการเก็บข้อมูลบางอย่าง เช่น รถของกูเกิลที่วิ่งถ่ายภาพท้องถนนและอาคารต่างๆ เพื่อไปทำบริการกูเกิลสตรีทวิว (Google Street View) นั้น ไม่ได้เก็บแค่ข้อมูลภาพ แต่รถยังสามารถเก็บข้อมูลไวไฟ (Wi-Fi) ระหว่างที่รถวิ่งผ่านได้ด้วย นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ทุกวันนี้ เราไม่รู้ตัวเลยว่าเรากำลังถูกเก็บข้อมูลอะไรอยู่บ้าง

ซึ่งในอนาคตอันใกล้ การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลจะรุนแรงขึ้นอีก เมื่อมาถึงยุคของ Internet of Things (IoT) ที่อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ จะสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้

คณาธิปกล่าวว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเช่นเดียวกับประเทศในสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ ที่มีกฎหมายนี้มานานแล้ว

โดยหัวใจหลักของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลใน 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ 1. ขั้นตอนการเก็บข้อมูล 2. ขั้นตอนการนำข้อมูลไปประมวลผล 3. ขั้นตอนการเผยแพร่ข้อมูล นอกจากนี้ การขอความยินยอมต้องเป็นแบบชัดแจ้ง ไม่ใช่การขอข้อมูลโดยปริยาย และหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต้องมีความเป็นอิสระ

ทว่าในร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น  ขาดหลักการขอความยินยอมในขั้นการเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นขั้นแรกและเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด แม้ว่าจะมีการขอความยินยอมในขั้นการประมวลผลหรือนำข้อมูลไปเผยแพร่ก็ตาม ซึ่งจุดนี้เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้มาตรฐาน = ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ

คณาธิปกล่าวต่อว่า ที่มากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยต้องติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งย่อมต้องเกี่ยวพันกับการไหลเวียนของข้อมูล ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้กฎหมายนี้มีความเป็นสากล

“เห็นได้จากแนวปฏิบัติของอียูในมาตรา 25 ที่บอกว่า หากประเทศไหนไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือมีแต่ไม่ได้มาตรฐานทัดเทียมอียู ประเทศในอียูก็ไม่สามารถส่งออกข้อมูลไปยังประเทศเหล่านั้นได้”

นี่จึงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจสำหรับประเทศที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือมีแต่ไม่ได้มาตรฐาน

ข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของการที่ประเทศมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลคือ ตามความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade-GATT) มาตรา 14 ที่ระบุให้ประเทศสามารถกีดกันทางการค้าได้หากประเทศคู่ค้าไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คณาธิปกล่าวว่า หากประเทศไทยมีกฎหมายนี้ ก็สามารถใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตสินค้าบางประเภทในประเทศได้

จากที่กล่าววมา จะเห็นว่าการมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล “ที่ได้มาตรฐาน” จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ นอกเหนือไปจากเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล

อ่าน สรุปข้อคิดเห็นของคณาธิป ทองรวีวงศ์

ชี้ปัญหาในร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ทางด้านกฤษฎากล่าวว่า ในหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระบุไว้ว่า เพื่อให้มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นการทั่วไป และเพื่อขจัดอุปสรรคในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ทว่าเมื่อดูจากเนื้อหาในร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับปัจจุบันจะพบว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องหรือ “ไม่ตอบโจทย์” หลักการที่กล่าวมาข้างต้น

กฤษฎาได้ตั้งข้อสังเกตดังนี้

ร่างมาตรา 17 ที่ระบุให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานของตน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นและเร่งด่วน

กฤษฎากล่าวว่า ร่างมาตราดังกล่าวมีปัญหาตรงที่วลี “กรณีจำเป็นและเร่งด่วน” ซึ่งเป็นการเขียนกฎหมายที่ไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายอาญาซึ่งกระทบกับสิทธิของบุคคล คณะกรรมการฯ จึงต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งได้อย่างเต็มที่ การเขียนกฎหมายเช่นนี้จึงผิดหลักการพิจารณาความอาญา

เช่นเดียวกันกับวรรคสองในร่างมาตราเดียวกัน ที่ระบุให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิชี้แจงหรือโต้แย้ง เมื่อมีเหตุผลเป็นไปตามกรณีต่างๆ ตามความใน (1) ถึง (5) โดยเฉพาะใน (5) ที่กฎหมายเขียนว่าเป็น “กรณีอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

วลีดังกล่าวเป็นการเขียนกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจน “เกิดวันดีคืนดีคณะกรรมการอยากเพิ่มกรณีใหม่อะไรเข้ามาก็ได้อย่างนั้นหรือ” กฤษฎากล่าว

ถัดมา ในร่างมาตรา 18 ที่ระบุให้เจ้าหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ทว่ากลับไม่ต้องรับโทษทั้งทางแพ่งและทางกฎหมาย เมื่อทำหน้าที่โดยสุจริต ซึ่งมีปัญหาสองประการ หนึ่งคือ ประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำหน้าที่ “โดยสุจริต” และสอง การที่เจ้าหน้าที่มีสิทธิใช้อำนาจตามกฎหมายอาญา แต่กลับไม่ต้องรับผิดใดๆ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ร่างมาตรา 25 และ 26 ที่กำหนดไม่ให้เก็บรวบรวมข้อมูล ใช้ หรือเปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เว้นแต่จะเป็น กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นั้น

อีกเช่นกัน ที่การเขียนกฎหมายด้วยถ้อยคำเช่นนี้เป็นการเขียนกฎหมายที่เปิดช่องไว้กว้างเกินไป กฤษฎากล่าวว่า กฎกระทรวงเป็นกฎที่รัฐมนตรีประจำกระทรวงเพียงคนเดียวก็สามารถออกได้โดยไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากผู้ใด ทั้งๆ ที่การเขียนกฎหมายเช่นนี้จะเป็นการจำกัดตัดสิทธิของประชาชน ซึ่งต้องเขียนให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่ควรมีการกำหนดข้อยกเว้น แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเห็นว่ายังไงก็ต้องมีควรยกเว้น ตนก็เห็นว่าจะใช้กฎกระทรวงเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ

“กฎหมายที่จะกระทบสิทธิของประชาชน หากจะให้คนๆ เดียวมาตัดสิน ผมไม่เห็นด้วย” -กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์

กฤษฎาเสนอว่า หากจำเป็นจริงๆ อาจเขียนโดยการเปิดช่องให้มีการกำหนดเพิ่มได้ในพระราชกฤษฎีกา เพราะอย่างน้อย พระราชกฤษฎีกาก็เป็นกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีที่ต้องมาประชุมกัน

สำหรับร่างมาตรา 28(5) ซึ่งสรุปความได้ว่า เจ้าของข้อมูลไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลของตนเอง หากเป็นไปเพื่อ “คุ้มครองเจ้าของข้อมูล…” ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่เป็นปัญหา

กฤษฎากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ การออกกฎหมายข้อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีข้อยกเว้นจำนวนมากเช่นนี้ ไม่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตั้งแต่แรก

ดู สไลด์ประกอบการเสวนาของกฤษฎา แสงเจริญทรัพย์

ร่างพ.ร.บ.ทวงถามหนี้ กระทบสิทธิความเป็นส่วนตัว ผ่านสนช.มาแล้วโดยไม่มีใครค้าน

คณาธิปกล่าวต่อว่า จากการที่ผู้ร่างกฎหมาย (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์-สพธอ.) ชี้แจงว่า ที่ต้องเขียนกฎหมายเช่นนี้เพราะไม่ต้องการให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นภาระเกินไปต่อภาคเอกชนนั้น จากที่ตนได้ไปพูดคุยกับภาคเอกชน พบว่าหลักการขอความยินยอมดังกล่าวไม่ได้เป็นภาระยุ่งยากแต่อย่างใด และในทางเทคนิคเราสามารถออกแบบการขอความยินยอมที่สะดวกกับทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการได้

คณาธิปกล่าวทิ้งท้ายเวทีว่า นอกจากร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำลังคุยอยู่นี้แล้ว ยังมีร่างพ.ร.บ.อีกหลายฉบับที่กระทบหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อาทิ ร่างพ.ร.บ.ทวงถามหนี้ ซึ่งผ่านสภานิติบัญญัติมาแล้ว “อย่างเงียบๆ” และกำลังรอประกาศใช้จริง ซึ่งมีปัญหาละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเช่นกัน แต่กลับไม่มีใครให้ความสนใจ

เอกสารเพิ่มเติม

Tags: , , , , , ,
%d bloggers like this: