ยุบกองทุนกทปส. 2.7 หมื่นล้านทำคนพิการหวั่น เกรง กม.”ศก.ดิจิทัล” เพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม

2015.02.17 20:10

ตัวแทนคนพิการหวั่น ร่างพ.ร.บ.กสทช.เพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม ระบุกองทุนกทปส.ให้ประโยชน์คนพิการมหาศาล ชี้ช่องโหว่ กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ไม่มีตัวแทนจากคนพิการเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการ-วัตถุประสงค์กองทุนไม่พูดถึงคนพิการเลย ด้านกรรมาธิการสนช.กล่าว การปฏิรูปประเทศต้องไม่เลือกปฏิบัติ

csdig-people-with-disability

16 กุมภาพันธ์ –มณเฑียร บุญตัน กรรมาธิการการสื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.กสทช.ในเวทีเสวนาย่อยหัวข้อ “กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล…คนพิการไทยเสี่ยงถูกลอยแพ?” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ณ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์นว่า

การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเป็นหนึ่งสิทธิที่คนทุกคนพึงได้รับ ซึ่งจากพ.ร.บ.กสทช.ฉบับปัจจุบันก็ได้มีการสนับสนุนหลักการนี้ โดยให้มีกองทุนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ที่ให้การสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีในกลุ่มคนพิการและคนด้อยโอกาส

ทว่าในร่างพ.ร.บ.กสทช.ที่ให้มีการยุบกองทุนกทปส. ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกับร่างกฎหมายแล้วนั้น ขาดหลักการนี้ไป ซึ่งคนพิการไม่สามารถยอมรับได้ หากกฎหมายใหม่ที่ออกมาจะทิ้งหลักการที่รับรองการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนทุกกลุ่ม

มณเฑียรกล่าวด้วยว่า การต้องการปฏิรูปประเทศตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้นั้นจะเป็น “การปฎิรูปที่ไม่เป็นจริง” หากการปฏิรูปดังกล่าวไม่ใช่การปฏิรูปที่ทำให้คนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ หรือที่เรียกว่าเป็น “inclusive society” ที่ไม่แบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ

ทางด้านต่อพงษ์ เสลานนท์ รองประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยคนที่หนึ่ง และนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยท้าวความว่า เป็นเวลาร่วมยี่สิบปีมาแล้ว นับตั้งแต่การปฏิรูปสื่อในรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2540 ที่กลุ่มคนพิการได้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงบริการต่างๆ โดยสิ่งที่เรียกร้องก็มิได้เกินเลยสิทธิอันพึงมีพึงได้ของพลเมืองไทยเลย การเรียกร้องดังกล่าวก็เพื่อให้คนพิการสามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกับคนปกติ เพราะปัญหาหลายอย่างในสังคมก็มีที่มาจากความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำในสังคม

ต่อพงษ์กล่าวว่า กลุ่มคนพิการเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปในภาพใหญ่ของรัฐบาล ที่พูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำ ทว่าในร่างกฎหมาย (ร่างพ.ร.บ.กสทช.) ที่ออกมากลับจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงเทคโนโลยีระหว่างคนพิการกับคนปกติทั่วไป จากการที่ร่างกฎหมายที่ระบุให้ยุบกองทุนกทปส.

ซึ่งเดิม การจัดตั้งกองทุนกทปส.มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินบางส่วนจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ทำธุรกิจแล้วมีกำไรมาลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี แทนที่จะเอาไปรวมในเงินแผ่นดินแล้วใช้อย่างไม่มีวัตถุประสงค์ ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการสากล ประเทศต่างๆ ในโลกต่างก็ใช้วิธีนี้ โดยหลายๆ ประเทศจะแยกกองทุนนี้มาเป็นกองทุนอิสระ ไม่ขึ้นกับฝ่ายการเมือง

แต่ร่างพ.ร.บ.กสทช.ใหม่จะทำลายวัตถุประสงค์ดังกล่าว และกลายเป็นนำเงินที่นำไปให้เอกชนและรัฐกู้ยืมแทน

นอกจากนี้ ในกองทุนใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น (กองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ก็ไม่ได้มีตัวแทนคนพิการเข้าไปนั่งในคณะกรรมการแต่อย่างใด

ต่อพงษ์ทิ้งท้ายไว้ว่า “คนพิการอยากเป็นพลเมืองที่ร่วมพัฒนาประเทศไปร่วมกับทุกท่าน ไม่ได้มีเจตนาขัดขวางอะไร” และหวังว่าการขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงเทคโนโลยีจะสิ่งสำคัญที่ทำให้คนพิการสามารถใช้ความสามารถที่มีในการช่วยพัฒนาประเทศ

ทางด้านวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งกรุงเทพมหานครกล่าวว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการอย่างมาก โดยปัจจุบันคนพิการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารหลายอย่าง โดยเฉพาะในกลุ่มคนหูหนวกที่จะสื่อสารกันด้วยการพิมพ์ข้อความกัน ต่างกับคนหูปกติที่ใช้เสียงในการโทรศัพท์ และในอนาคต เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการได้มากขึ้น จากการที่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลจะมีคำบรรยายใต้ภาพสำหรับผู้พิการทางหู ซึ่งผู้ชมสามารถเปิดหรือปิดคำบรรยายนั้นได้ จึงไม่เป็นที่รบกวนการดูโทรทัศน์ของคนหูปกติด้วย

ส่วนในเรื่องการใช้ประโยชน์จากกองทุนกทปส.นั้น วิทยุตกล่าวว่า ปัจจุบัน คนพิการได้รับประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนตาบอด ที่สามารถกดโทรศัพท์ไปที่เบอร์ 1414 เพื่อฟังหนังสือเสียง โดยแต่ละเดือนมีคนเข้าไปใช้บริการดังกล่าวกว่า 5 แสนคน

หรือกลุ่มคนหูหนวกได้รับประโยชน์จาก “ศูนย์ถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย” (Thai Telecommunication Relay Service) หรือ TTRS ซึ่งเป็นบริการล่ามสำหรับผู้พิการทางหู ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ เวลาที่ต้องไปติดต่อทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งบริการนี้ก็ได้รับเงินสนับสนุนโดยตรงจากกองทุนดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ทว่าในร่างพ.ร.บ.กสทช. เงินกองทุนที่จะสนับสนุนให้คนพิการเข้าถึงเทคโนโลยีได้หายไป และในร่างกฎหมายใหม่ที่จะมีการจัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้น ในวัตถุประสงค์ของกองทุนก็ไม่ได้มีการระบุให้ชัดเจนว่า หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์จากกองทุนคือกลุ่มคนพิการ ซึ่งวิทยุตกล่าวว่า หากมีการระบุให้ชัดเจนก็จะทำให้กลุ่มคนพิการสบายใจขึ้นในระดับหนึ่ง

วิทยุตกล่าวว่า หากเป้าหมายของคสช.คือการคืนความสุขให้ทุกคน “สิ่งที่คสช.ต้องทำก็คือทำให้ พ.ร.บ.มีความเหมาะสม มีความเท่าเทียม”

อนึ่ง ปัจจุบันกองทุนกทปส.มีเงินอยู่ในกองทุนกว่า 27,000 ล้านบาท

หมายเหตุ: การสัมมนาเวทีย่อยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตและการเตรียมตัวขององค์กรประชาสังคมในประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2558 โดยมูลนิธิเอเชีย, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, โครงการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมปลอดพนันภายใต้มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ร่วมกับองค์กรเครือข่าย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Tags: , , , , ,
%d bloggers like this: