Thai Netizen Network

ประชาสังคมเสนอป้องกันปัญหาล่อลวงเด็กออนไลน์ เน้นผู้ปกครองสร้างการรู้เท่าทันสื่อ

ตำรวจเผยปัญหาการปราบปรามสื่อลามกออนไลน์ งบน้อย-งานมาก-ขาดความร่วมมือจากผู้ให้บริการ เอ็นจีโอระบุ ไทยควรมีกฎหมายคุมสื่อลามกเด็กเป็นการเฉพาะ แต่การใช้คำว่า “สิ่งยั่วยุ” กินความกว้างไป เน้นผู้ปกครองสร้างการรู้เท่าทันสื่อ ส่วนปัญหาพนันออนไลน์ของเด็ก แม้มีกฎหมายหลายฉบับ แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ ขาดกลไกหลักจัดการปัญหา แนะตั้งหน่วยงานดูแลโดยเฉพา

(ซ้ายไปขวา) พงศ์ธร จันทรัศมี, ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก, ศรีดา ตันทะอธิพานิช และพ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน

(ซ้ายไปขวา) พงศ์ธร จันทรัศมี, ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก, ศรีดา ตันทะอธิพานิช และพ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีเวทีสัมมนาย่อยหัวข้อ “การจัดการเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชนในโลกออนไลน์” ณ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ซึ่งมีผู้ร่วมสัมมนาได้แก่ พ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ศรีดา ตันทะอธิพานิช มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, พงศ์ธร จันทรัศมี ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ดำเนินรายการโดย ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก

ตำรวจเผย ทำงานจัดการการล่อลวงออนไลน์ งบน้อย-งานมาก-ขาดความร่วมมือจากผู้ให้บริการ

พ.ต.อ.นิเวศน์กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ทำงานมา เห็นว่าเทคโนโลยีมีการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสิ่งยั่วยุสำหรับเด็กมากขึ้น ทั้งเรื่องเพศ เกมออนไลน์ รวมถึงการฉ้อโกงและการหลอกลวงออนไลน์ และคนร้ายซึ่งเห็นช่องโหว่ว่าเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ตไม่มีความรู้เท่าทันสื่อมากพอ ล่อลวงให้เด็กตกเป็นเหยื่อ ซึ่งในประเทศไทย เด็กผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าเด็กผู้ชาย โดยวัยที่อันตรายที่สุดคือวัยที่เด็กสามารถออกไปนอกบ้านเองได้ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกคนร้ายชักชวนออกไปล่อลวงข้างนอก

โดยทุกวันนี้ จำนวนเด็กที่ถูกล่อลวงออนไลน์มีจำนวนมาก ประมาณ 50 รายต่อเดือน จนหน่วยงานไม่สามารถรับเรื่องได้หมด จนต้องปิดศูนย์รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ

พ.ต.อ.นิเวศน์กล่าวต่อว่า ข้อจำกัดที่หน่วยงานเผชิญอยู่ตอนนี้คือเรื่องบุคคลากร โดยตำรวจส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ทำให้ต้องใช้เวลาในการเก็บพยานหลักฐาน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการรักษาบุคคลากรให้อยู่กับองค์กรด้วย เนื่องจากตำรวจที่จบสายคอมพิวเตอร์ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง ต่างกับตำรวจในสายงานอื่นๆ

หน่วยงานยังประสบปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ ทั้งในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และการจัดซื้ออุปกรณ์และซอฟต์แวร์พิเศษ ที่ต้องใช้เวลารองบประมาณ ซึ่งหากล่าช้าอุปกรณ์ที่สั่งซื้อไปก็จะล้าสมัย

ส่วนปัญหาภายนอกหน่วยงานได้แก่ การที่กฎหมายตามเทคโนโลยีไม่ทัน ปัญหาเรื่องการขาดความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศนั้น มักเป็นปัญหาเรื่องการขอข้อมูลจากผู้ให้บริการ ซึ่งให้ความร่วมมือได้ไม่รวดเร็วพอ

พ.ต.อ.นิเวศน์ย้ำว่า ในการป้องกันและปราบปรามการล่อลวงเด็กทางออนไลน์นั้น การเข้าถึงข้อมูลทางออนไลน์มีความสำคัญมาก และบางครั้งเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการ ซึ่งหากการทำงานของตำรวจมีการถ่วงดุลอำนาจและมีการตรวจสอบ ก็จะทำให้การทำงานกับผู้ให้บริการเป็นไปได้อย่างราบรื่น

พ.ต.อ.นิเวศน์กล่าวว่า ในการขอข้อมูลจากผู้ให้บริการ หากเป็นข้อมูลประเภทเมทาดาทา (metadata) ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นเนื้อหา ตำรวจควรสามารถใช้เพียงหมายเรียกพยานหรือหมายเรียกเอกสาร ซึ่งตำรวจเป็นผู้ออกเองได้ เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน แต่หากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับเนื้อหา พ.ต.อ.นิเวศน์เห็นว่าตำรวจก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้หมายค้นจากศาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลอยู่

เน้นผู้ปกครองสร้างการรู้ทันสื่อให้เด็ก ระบุกฎหมายสื่อลามกเด็กไม่ควรใช้คำว่า “ยั่วยุ” เพราะกินความกว้าง

ทางศรีดากล่าวว่า มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยทำงานสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้เทคโนโลยีให้กับเด็ก และปัจจุบันมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านนี้โดยตรง

มูลนิธินี้เป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมอินเทอร์เน็ตฮอตไลน์สากล (INHOPE) ซึ่งที่ผ่านมาได้ไปอบรมการวิเคราะห์ภาพลามกเด็ก ซึ่งในต่างประเทศจะมีโปรแกรมและผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์รูปร่างหรือสรีระ ว่าคนที่อยู่ในภาพเป็นเยาวชนหรือไม่

ศรีดากล่าวว่า ปัจจุบันมูลนิธิประสบปัญหาคือ หาคนทำงานยาก เนื่องจากงานด้านนี้มีความเครียดสูงเพราะเจ้าหน้าที่อาจต้องอยู่กับรูปลามกเด็กเป็นเวลานาน ทั้งยังประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ และเรื่องการขาดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากมูลนิธิไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมาย เมื่อมีเรื่องขึ้นจึงต้องประสานความร่วมมือไปยังตำรวจ ซึ่งบ่อยครั้งคดีก็ไม่คืบหน้า

ศรีดากล่าวด้วยว่า ตนเห็นว่าประเทศไทยควรต้องมีศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนการล่อลวงเด็กทางออนไลน์ และควรต้องมีกฎหมายคุ้มครองเด็กจากสื่อลามกเด็กเป็นการเฉพาะ ซึ่งไม่ควรใช้คำว่า “สิ่งยั่วยุ” เพราะเป็นคำที่ค่อนข้างกว้างและเปิดให้ตีความได้มากเกินไป

นอกจากนี้ ที่สำคัญก็คือ ผู้ปกครอง โรงเรียน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งสร้างการรู้เท่าทันสื่อ และรัฐก็ควรสนับสนุนงบประมาณในเรื่องนี้ด้วย

(อ่านประกอบ  ร่างกม. “ปราบปรามสิ่งยั่วยุฯ” สร้าง “ศีลธรรมทางเพศ” ทำรสนิยมให้กลายเป็น “ความวิปริต”)

เด็กเล่นพนันออนไลน์กับปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย

พงศ์ธรกล่าวถึงเรื่องการพนันว่า ในหลายประเทศนั้น การพนันโดยผู้ใหญ่เป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่หากเป็นการพนันโดยเด็กนั้นผิดกฎหมายแน่นอน ทว่า การพนันออนไลน์ได้สร้างปัญหาในแยกแยะว่า ผู้พนันนั้นเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยการพนันไม่ว่าจะโดยเด็กหรือผู้ใหญ่ก็เป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งหมด

โดยในประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนันของเด็กมีอยู่หลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก หรือใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมาตราที่พูดถึง “ศีลธรรมอันดี” ที่อาจตีความรวมไปถึงการพนันได้ ซึ่งกฎหมายเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันก็สามารถจัดการกับปัญหาการพนันของเด็กได้แล้ว แต่ปัญหายังติดอยู่ที่การบังคับใช้

พงศ์ธรกล่าวว่า การพนันออนไลน์เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางเข้าถึงการพนันเช่นร้านเกม กสทช. กระทรวงไอซีที ตำรวจ หรือบริษัทโฆษณา เป็นต้น แต่การดูแลเรื่องนี้ยังขาดกลไกหลักที่จะมาจัดการกับปัญหา โดยพงศ์ธรได้เสนอว่าควรมีการจัดตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาดูแลด้านนี้โดยตรง แม้ว่าปัจจุบันจะมีกรรมการคุ้มครองเด็กอยู่แล้ว แต่กรรมการดังกล่าวประชุมเพียงปีละสองครั้ง ไม่น่าจะรับมือได้ทันกับปัญหาการพนันออนไลน์ของเด็กที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที

อนึ่ง การสัมมนาเวทีย่อยนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตและการเตรียมตัวขององค์กรประชาสังคมในประเทศไทย” จัดโดยมูลนิธิเอเชีย, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, โครงการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมปลอดพนันภายใต้มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และองค์กรเครือข่าย

Exit mobile version