“ถ้าไม่ได้ทำผิด จะต้องกลัวอะไร?” ถามมา-ตอบไป กับ สฤณี อาชวานันทกุล

2015.01.26 15:48

กลัวอะไรครับ ถ้าไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องกลัว

การ์ตูนโดย “เสี่ยแนน”

สฤณี อาชวานันทกุล (@Fringer) บล็อกเกอร์และประธานกรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง ตอบคำถามที่ถามกันบ่อยว่า “ทำไมควรค้านชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล”

—-

ถาม: ถ้าไม่ได้ทำผิด จะต้องกลัวอะไร?

ตอบ: งั้นพรุ่งนี้คุณส่งพาสเวิร์ดเฟซบุ๊ก โฟลเดอร์รูปภาพ อินสตาแกรม อีเมล อีแบงกิ้ง ฯลฯ ของคุณให้ตำรวจเลยดีไหม? ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด คุณก็ควรจะโอเคใช่ไหมถ้าตำรวจจะล้วงข้อมูลลับเหล่านี้ไป? ชุดกฎหมายนี้ให้อำนาจเขาทำอย่างนั้นโดยที่ไม่ต้องบอกเรา ไม่มีอำนาจศาลมาถ่วงดุล และเราไม่มีสิทธิทักท้วงหรือร้องเรียนใดๆ เลย

ถาม: เขาแก้กฎหมายไปจัดการพวกหมิ่นฯ ไม่เห็นคนอื่นต้องเดือดร้อน?

ตอบ: เจ้าหน้าที่มีอำนาจล้นฟ้าเพราะกฎหมายไม่กำหนดขอบเขตการใช้อำนาจที่ชัดเจน ดัก-แฮ็ก-ขอข้อมูลส่วนตัวของทุกคนได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล ไม่ต้องบอกใคร ไม่มีกลไกรับผิด ต่อให้คุณเห็นด้วยกับนโยบายจับผู้กระทำผิดกฎหมายหมิ่นฯ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้อำนาจในทางมิชอบ? ต่อให้เจ้าหน้าที่แค่ “พลาด” บังเอิญไปได้ข้อมูลส่วนตัวของเรามา ทั้งที่เราไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆ แค่นี้เราก็ไม่มีทางรู้หรือร้องเรียนอะไรแล้ว อย่าว่าแต่จะฟ้องกลับ

ถาม: ฉันไว้ใจ คสช. เพราะเขาเจตนาดี ไม่ลุแก่อำนาจหรอกน่า

ตอบ: ต่อให้คุณไว้ใจ คสช. คุณไว้ใจผู้มีอำนาจคนอื่นๆ ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายเหล่านี้ทุกคนไหม? ลำพังเจ้าหน้าที่ก็ดัก-แฮ็ก-ขอข้อมูลส่วนตัวได้แล้ว ลองคิดต่อไปว่า หลังจากที่ คสช. จัดการเลือกตั้ง บ้านเมืองกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย คุณจะไว้ใจผู้ครองอำนาจชุดถัดไปว่า จะใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างมีวิจารณญาณ ไม่ใช้เล่นงานคู่ปรับทางการเมืองหรือไม่?

กฎหมายคือกฎหมาย ไม่ใช่คำสั่งเฉพาะกิจ ออกแล้วอยู่ไปอย่างถาวร ยุคนี้ไม่มีสภาปกติ ไม่มีฝ่ายค้าน ยากมากที่จะแก้กฎหมายเมื่อมันเข้า สนช. ไปแล้ว และการแก้กฎหมายก็เป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญมาทุกยุคทุกสมัย รวมพลังหยุดมันไว้ก่อนดีกว่า

ถาม: รัฐบาลนี้เป็นเผด็จการเต็มขั้น กฎอัยการศึกก็ยังอยู่ ค้านไปไม่มีประโยชน์หรอก

ตอบ: ไม่ลองก็ไม่รู้ ถ้าไม่มีกระแสต่อต้านจากหลายภาคส่วน ที่ปรึกษารองนายกฯ และ สพธอ. คณะยกร่างกฎหมายคงไม่ส่งสัญญาณถอย — เราต้องรวมพลังกันกดดันและจับตาดูอย่างเข้มข้นต่อไป ไม่ให้เขาลักไก่ได้ง่ายๆ

ถาม: รัฐบาลหลายประเทศ อย่างอเมริกาก็สอดแนมเราอยู่แล้ว ต่อให้รัฐบาลออกกฎหมายชุดนี้มาก็ไม่แย่ลงหรอก

ตอบ: ลองถามตัวเองดูสิว่า ในฐานะคนไทย เราคิดว่าเจ้าหน้าที่ประเทศไหนจะอยากเอาข้อมูลเราไปใช้หาประโยชน์มากกว่ากัน — เจ้าหน้าที่อเมริกันซึ่งอยู่ห่างจากเราข้ามทวีป หรือเจ้าหน้าที่ราชการไทย?

ถาม: ประเทศไทยโดนโจมตีจากแฮ็กเกอร์เป็นอันดับต้นๆ ในโลกเชียวนะ ต้องมีกฎหมายพวกนี้แหละดีแล้ว

ตอบ: ไม่มีใครปฏิเสธ “หลักการ” ของกฎหมาย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ในรายละเอียด กฎหมายทุกฉบับจะต้องคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิผู้บริโภคของเรา ถ้าละเมิดสิทธิจะต้องละเมิดอย่าง “จำเป็นและได้ส่วน” (necessary and proportionate) กับระดับอันตราย แต่กฎหมายชุดนี้ไม่ได้เคารพในหลักการนี้เลย

เปรียบเสมือนกับรัฐอ้างว่า เครื่องบินสุ่มเสี่ยงที่จะมีผู้ก่อการร้าย ดังนั้นรัฐจะดักฟังการสื่อสารของผู้โดยสารทุกคนก่อนเดินทาง 1 เดือน และเมื่อมาถึงสนามบินจะต้องเดินแก้ผ้าขึ้นเครื่องบิน ไม่ใช่เดินผ่านเครื่องเอ็กซเรย์เฉยๆ

ช่วยกันเผยแพร่แคมเปญ “หยุดชุดกฎหมาย ‘ความมั่นคงดิจิทัล'”

แชร์ลิงก์แคมเปญนี้ http://chn.ge/15CRmiu ให้กับเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง และเพื่อนร่วมงาน ในช่องทางโซเชียลมีเดียของทุกคน ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ ฯลฯ

ตั้งกระทู้ชวนเพื่อนๆ พูดคุยประเด็นข้อกังวล ในเว็บบอร์ดกลุ่มของโรงเรียนหรือที่ทำงาน หรือในเว็บบอร์ดสาธารณะ โพสต์ลิงก์ข่าวที่เกี่ยวข้อง บทความวิเคราะห์ร่างกฎหมายจากที่ต่างๆ เพื่อเริ่มบทสนทนา และลิงก์กลับมาที่แคมเปญนี้ เพื่อชวนคนที่สนใจร่วมลงชื่อ

หรือใครจะลองวาดภาพ สร้างมีมล้อ หรือทำคลิปขำๆ เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ก็น่าจะสนุก

แสดงพลังสร้างสรรค์ของอินเทอร์เน็ต
การสื่อสารที่ปลอดภัยจงอยู่กับทุกคน

—-

โพสต์ต้นฉบับในเฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul

ร่วมรณรงค์แคมเปญหยุดชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล ดาวน์โหลดภาพและคลิปสำหรับเผยแพร่

หยุดกฎหมายดักข้อมูล

Tags: , ,
%d bloggers like this: