2015.01.11 22:07
ทันทีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ รวม 8 ฉบับ เมื่อ 6 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา เพิ่มเติมจาก 2 ฉบับที่ได้เห็นชอบไปก่อนหน้านี้เมื่อ 16 ธ.ค. 2557 ก็ทำให้คนทำงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปอภิปรายอย่างกว้างขวาง ทั้งต่อกระบวนการที่มา เนื้อหาสาระ ประโยชน์และผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายเหล่านี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้รวบรวมข้อคิดเห็นบางส่วนมาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อประโยชน์ต่อการถกเถียงเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับและร่างกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ปรับปรุง 14 ม.ค. 2558 เพิ่มความคิดเห็นจาก ซิคเว่ เบรคเก้ (ดีแทค), สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (ทีดีอาร์ไอ) และ เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ (ทีดีอาร์ไอ)
อำนาจดักและเก็บข้อมูล ธุรกิจ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน – กฎหมาย “เศรษฐกิจ” ที่เอา “ความมั่นคง” นำ?
ปรเมศวร์ มินศิริ (@iwhale) ผู้ประกอบการซึ่งบุกเบิกวงการอินเทอร์เน็ตในไทย และอดีตนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ตั้งข้อสังเกตถึงอำนาจที่สูงมากของ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กปช.) ที่เขามองว่าสามารถสั่งทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน “ให้ทำหรือห้ามทำอะไรก็ได้” และการที่เจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.สามารถดักฟังได้โดยไม่ต้องขอคำสั่งศาล ซึ่งเขามองว่าน่าจะทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนทำธุรกิจในกิจการเกี่ยวกับข้อมูล เพราะไม่มั่นใจเรื่องความลับทางการค้า
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับมาตรการความมั่นคงระดับนี้คือ บริษัทต่างชาติที่สนใจมาตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคแถบนี้ จะไม่เลือกมาตั้งที่ประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะเขาจะลงทุนไปทำไมในเมื่อความลับทางการค้าทั้งหมดสามารถถูกเจาะเข้าไปดู ได้ทั้งหมดอย่างถูกกฎหมาย ในทางกลับกันบริษัทต่างๆ จะพากันไปตั้งสำนักงานพร้อมเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศกันอย่างมากเพื่อที่จะไม่ถูกดักล้วงข้อมูลความลับทางการค้าจากรัฐบาลไทย”
“ทำแบบนี้จะเป็นการส่งเสริม Digital Economy ได้อย่างไร?”
ปรเมศวร์เสนอว่าการขอข้อมูลควรจะต้องมีคำสั่งศาลเป็นกรณีไป เพื่อไม่ให้ขัดกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน
การขอข้อมูลหรือดักฟังดังกล่าวนี้ วสันต์ ลิ่วลมไพศาล (@public_lewcpe) แห่งเว็บไซต์ Blognone ชี้ว่าเป็นการ “ดักฟังข้อมูลทุกรูปแบบ ทั้งไปรษณีย์ปกติ ไปจนถึงเครื่องมือสื่อสาร” และทิ้งท้ายว่า “ขอให้ทุกท่านโชคดี”
ในอีกบล็อกโพสต์ วสันต์ยังรีวิวการเปลี่ยนแปลงในร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยชี้ให้เห็นถึงหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นของผู้ให้บริการในการจัดเก็บข้อมูลการใช้บริการ จากเดิมที่กำหนดให้เก็บข้อมูลการจราจรเท่านั้น ก็เพิ่มการเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการในระดับที่ “สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการ” เช่นอาจต้องขอเลขประจำตัวประชาชนจากผู้ใช้บริการ
วสันต์เห็นว่า มาตรา 14 (1) นั้นถูกแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น ไม่น่าจะนำไปใช้ในการฟ้องหมิ่นประมาทบุคคล (ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายและเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ประกาศใช้เมื่อปี 2550) ได้อีกต่อไป แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงนั้นไม่ได้มีการแก้ไข ยังใช้คำว่า “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคง” เช่นเดิม นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเรื่องภาพอนาจารของ “บุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี” เข้าไปในร่างใหม่นี้ด้วย
สอดคล้องกับ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (@chavarong) ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ที่แสดงความเป็นห่วงหลายประการเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ ซึ่งรวมถึงร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งเขามองว่าที่ผ่านมา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาในเรื่องกระบวนการบังคับใช้ที่ขาดความชัดเจน เจ้าพนักงานขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ “จนทำให้บางครั้ง ผู้บริสุทธิ์อาจถูกกลั่นแกล้งจนต้องติดคุกติดตะรางโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์”
ในส่วนของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจากร่างเดิม ที่ตัดอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทิ้งออกจากกรรมการโดยตำแหน่ง และเพิ่มเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้ามาแทน นอกจากนี้ยังไม่รับประกันตำแหน่งกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคเช่นที่ร่างเดิมรับประกัน และในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ไม่ได้กำหนดให้มีสัดส่วนจากภาคเอกชนอย่างน้อยกึ่งหนึ่งแบบร่างเดิม
ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลร่างใหม่ ยังได้เปลี่ยนสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ จากเดิมที่เป็นสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (ซึ่งดูแลด้านเสรีภาพข้อมูลข่าวสารและข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนโดยตรง) มาเป็น สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งมีผลให้ “กรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง” ของคณะกรรมการฯ เปลี่ยนจาก ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ มาเป็น เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นถึงแนวคิดในการร่างกฎหมายชุดนี้ ที่เน้นเรื่องความมั่นคงเป็นหลักอย่างชัดเจน
จัดสรรคลื่นความถี่ “เพื่อความมั่นคง” ส่อเอื้อประโยชน์ ใช้ผิดวัตถุประสงค์
อีกร่างกฎหมายที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ฉบับใหม่ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของกสทช.และวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่
โดยตามร่างกฎหมายใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที พรชัย รุจิประภา กล่าวว่า คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะเป็นผู้พิจารณาแผนบริหารคลื่นความถี่ ว่าคลื่นใดเป็นคลื่นเพื่อความมั่นคงและบริการสาธารณะ และคลื่นใดเพื่อบริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งคลื่นเพื่อบริการเชิงพาณิชย์นั้นจะเป็นอำนาจของกสทช.ในการจัดสรร โดยการจัดสรรนี้ร่างกฎหมายใหม่ระบุให้ใช้การ “คัดเลือก” ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นการประมูล เช่น จะใช้วิธีเช่นการประกวดคุณสมบัติ (บิวตี้คอนเทสต์) ก็ได้
ซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค แสดงความไม่เห็นด้วยกับการคัดเลือกโดยไม่ต้องใช้วิธีประมูล โดยระบุว่าการประมูลเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าทรัพยากรจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ส่วนประเด็นการจัดสรรคลื่นความถี่ ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ที่ระบุว่า ต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการคัดเลือกนั้น ดีแทคเห็นว่าการประมูลเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับการจัดสรรคลื่น ความถี่ เพราะมั่นใจได้ว่าคลื่นความถี่ที่ถือว่าเป็นทรัพยากรจะถูกจัดสรรให้กับผู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด นี่จึงเป็นหลักการที่ประเทศส่วนใหญ่เลือกใช้การประมูล”
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าโจทย์ใหญ่ของอุตสาหกรรมที่ผ่านมาคือความโปร่งใส การปรับเปลี่ยนแก้ไขต้องดูบริบทของประเทศไทย หากเปลี่ยนไปสู่รูปแบบอื่นต้องเห็นผลชัดเจนว่าทำไมต้องเปลี่ยน
“ยังไม่เห็นเหตุผลที่เป็นระบบชัดเจนว่าการประมูลทำให้ติดขัดอย่างไร ที่ผ่านมามีการคัดค้านจากกลุ่มที่ต่อต้านไม่ให้มีการประมูล แต่ยังไม่เคยเห็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้จริง ๆ ว่าการประมูลเป็นอุปสรรคในการจัดสรรคลื่นความถี่ หากไม่ประมูลจะเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจได้เยอะมากส่วนวิธีคัดเลือกอื่นที่นิยมใช้กันคือ คัดเลือกจากเงื่อนไขหรือบิวตี้คอนเทสต์ ซึ่งไม่น่าเหมาะกับประเทศไทย”
สำหรับประเด็นการให้กสทช.กำกับเฉพาะคลื่นเชิงพาณิชย์ และให้คณะกรรมการดิจิทัลฯกำกับคลื่นเพื่อความมั่นคงและบริการสาธารณะ สมเกียรติแสดงความกังวลว่าจะเกิดปัญหา และจะแยกอย่างไรว่าส่วนไหนเป็นคลื่นเพื่ออะไร เนื่องจากที่ผ่านมามีตัวอย่างมากมาย ที่ภาครัฐจัดสรรคลื่นให้กับรัฐวิสาหกิจหรือให้กับหน่วยงานที่อ้างว่าใช้เพื่อความมั่นคง แต่สุดท้ายหน่วยงานเหล่านี้ปล่อยช่วงต่อให้เอกชนนำไปใช้เชิงพาณิชย์ หากรัฐกลัวว่าตลาดจะกลายเป็นการผูกขาดคลื่นโดยเอกชน ก็ต้องเปิดเสรี ที่สำคัญคือเศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปล่อยให้โครงสร้างตลาดผูกขาด
กระบวนการการมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายสำคัญ ความเป็นอิสระในการทำงาน และหลักการตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับการแก้ไขพ.ร.บ.กสทช. ยังมีประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะกรรมการกสทช.อีกด้วย ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลกับความเป็นอิสระขององค์กรกำกับกิจการที่อาจถูกแทรกแซงจากรัฐบาลได้
ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ (@Thawatchai_NBTC) กรรมการกสทช. ทวีตแสดงความเห็นว่าองค์กรกำกับกิจการไม่ควรอยู่ใต้กำกับของรัฐบาล เพราะจะทำให้มีการเมืองแทรกแซงง่ายขึ้น
“การแก้ไขพ.ร.บ.กสทช.ยังผิดประเด็นอยู่ การรวบอำนาจกลับไปให้รัฐเปิดให้การเมืองแทรกง่ายขึ้น ถ้ามองไม่แตกฉานจะมีการรวบและกระจายอำนาจกลับไปกลับมา”
“คำถามสำคัญที่คนเขียนกฏหมายต้องตระหนักคือฝ่ายไหนที่สังคมสามารถควบคุมหรือกดดันได้ง่ายกว่า รัฐมนตรีที่มีพรรคการเมืองหนุน หรือกก.องค์กรอิสระ?”
ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ไม่ได้เป็นการลดทอนอำนาจกสทช. กสทช.จะยังคงเป็นความเป็นองค์กรอิสระ สามารถคัดค้านเรื่องที่ไม่เห็นชอบด้วยได้ แต่ทุกองค์กรต้องรับนโยบายการทำงานมาจากที่เดียวกัน (จากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
อย่างไรก็ตาม เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น เธอมองว่า ในทางปฏิบัติ การให้กสทช.อยู่ภายใต้กำกับของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะทำให้สถานะของ กสทช.เปลี่ยนแปลงจากองค์กรอิสระเป็นองค์กรใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งโดยหลักการแล้วเธอไม่เห็นด้วย
เดือนเด่นเห็นว่ากสทช.ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับกิจการควรคงความเป็นอิสระ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของกสทช.ไม่ควรเป็นการเอากลับเข้ามาอยู่ในกำกับของรัฐ แต่ควรแก้ไขด้วยการเพิ่มกลไกการตรวจสอบ การประเมินประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการ กสทช.ทุกชุด รวมไปทั้งการแก้ไขการถอดถอนให้ทำได้ง่ายมากขึ้นหากพบว่าการทำงานไม่มีประสิทธิภาพและมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส
สอดคล้องกับ สุภิญญา กลางณรงค์ (@supinya) กรรมการกสทช.อีกคนหนึ่ง ที่มองว่าการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกสทช.ที่ครม.เพิ่งเห็นชอบไป เป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุด
“ถ้าปัญหา กสทช. อยู่ที่เรื่องธรรมาภิบาลหรือการใช้งบประมาณเกินเลย ก็ควรไปแก้จุดอ่อนตรงนี้ เช่นกำหนดเพดานงบแต่ละปีที่ใช้ได้ ไม่ใช่ให้ กสทช. กำหนดเองตามค่าธรรมเนียมที่เก็บได้มากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการให้บอร์ด และ สำนักงานต้องเปิดเผยรายละเอียดการใช้จ่ายต่างๆ”
“แต่ในร่างพ.ร.บ.ใหม่ ไม่เน้นเรื่องนี้เลย ดังนั้นมันจะไม่แก้จุดอ่อนที่เป็นอยู่ สรุปคือแก้ไม่ตรงจุด ที่สำคัญควรถามความเห็นภาคสื่อ ประชาสังคม ผู้บริโภคด้วยว่าคิดเห็นอย่างไรต่อร่างนี้บ้าง เรื่องใหญ่ขนาดนี้ รัฐบาลไม่ควรจะสรุปเอง”
เธอยังย้ำว่า ไม่ควรแก้ไขหลักการที่องค์กรกำกับดูแลกิจการจะต้องอิสระจากการเมือง ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการย้อนยุคถอยหลังไประบบเดิม (ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540) เช่นเดียวกับ ซิคเว่ ผู้บริหารดีแทค ที่มองว่า การกำกับกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยถือได้ว่าพัฒนามาไกลแล้ว การกำหนดให้มีองค์กรอิสระ เช่น กสทช.ในปัจจุบัน ขึ้นมากำกับดูแลนั้น สอดคล้องตามหลักการการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม และเป็นหลักปฏิบัติสากลที่ประเทศชั้นนำทั่วโลกต่างยึดถือ
“ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องกระทำคือการมุ่งพัฒนากลไกการทำงานขององค์กรอิสระ ให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีระบบการตรวจสอบที่รัดกุม แทนที่จะปรับเปลี่ยนไปจากการเป็นองค์กรอิสระ”
นอกจากนี้ สุภิญญายังได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นหลักการที่มาของกสทช. ว่ากสทช.ในปัจจุบันเป็นองค์กรที่มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงควรคิดถึงเรื่องดังกล่าวด้วย
“ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ กสทช. เป็นองค์กรที่มาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จริงๆ ต้องรอ สปช. สรุปแนวคิด เสนอให้คณะร่างรัฐธรรมนูญ สรุปมาก่อนว่า ยังต้องมีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระหรือไม่ จากนั้นค่อยมาแก้ร่าง พ.ร.บ.กสทช. แต่อันนี้คือออกร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับแก้ไขมาก่อน แต่ถ้า รัฐธรรมนูญเปลี่ยนบทบัญญัติอีก ก็ต้องแก้ พ.ร.บ.อีกอยู่ดี เหมือนล้อหลังแซงล้อหน้า งงๆ สับสนอยู่ และตอนนี้เหมือนมีหลายแนวคิดมาก ทั้งของกระทรวงไอซีที สนช. สปช. สรุปว่ารอดูกันต่อไปก่อนค่ะ”
ชวรงค์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา แสดงความเป็นห่วงถึงกระบวนการแก้ไขกฎหมาย ที่ทำไปอย่างรวดเร็ว ทั้งที่กฎหมายหมายฉบับเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนและกระทบประชาชนในวงกว้าง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับกสทช. ซึ่งมีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เขามองว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง” ไม่ใช่การแก้ไขโดยไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระในร่างกฎหมายต่างๆ ประกอบกับกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วม ทำให้ชวรงค์ยังตั้งคำถามว่า “การเสนอแก้ไขและยกร่างใหม่กฎหมายทั้ง 10 ฉบับนี้ มีเจตนาอย่างไรกันแน่”
“โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติ การออกกฎหมายสามารถกระทำได้ด้วยการเพียงผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหารและข้าราชการประจำที่ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีงานประจำอื่นที่จะต้องทำนอกจากงานด้านนิติบัญญัติ ย่อมจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบมากกว่าในยุคที่มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอย่างยิ่ง
ตัวนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อาจมีเจตนาดีที่ต้องการจะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้มีความทัดเทียมประเทศต่างๆ ในโลก เรื่องใหญ่ๆ อย่างนี้ คณะผู้บริหารประเทศต้องมีความรอบคอบและฟังความเห็นให้รอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ และมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศเช่นนี้
ไม่ใช่คอยแต่ฟังความเห็นของข้าราชการประจำที่ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีเพียงไม่กี่คน…”
เครือข่ายพลเมืองเน็ตขอเชิญชวนผู้สนใจแสดงความคิดเห็นในรูปแบบและพื้นที่ที่ตัวเองสะดวก ทั้งกระทู้ถาม ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก บล็อก ฯลฯ หรือรวบรวมลิงก์ที่เกี่ยวข้อง และส่งเสียงให้คนอื่นๆ ได้ทราบ ผ่านทางกรุ๊ปเฟซบุ๊ก “Thai Netizen Network (group)”
จับตากฎหมายข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้มีเฉพาะ “เศรษฐกิจดิจิทัล” เท่านั้น
ทั้งนี้ร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ทั้ง 10 ฉบับที่กำลังเป็นข่าว ได้แก่
- ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
- ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(ดาวน์โหลดร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ และดูโครงสร้างองค์กรไอซีทีใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังประกาศใช้กฎหมายได้ที่: เปิดผัง 12 หน่วยงานใหม่ “ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”)
นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและสิทธิเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ที่จะทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีความรับผิดเหมือนกับมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปัจจุบัน (เท่ากับว่าที่จะแก้ไขมาตรา 15 ในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ให้มีข้อยกเว้นความรับผิดให้กับผู้ให้บริการ ก็มารับผิดตามพ.ร.บ.นี้แทน) หรือร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องสงสัย ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าถึงข้อมูลได้ตามที่ศาลอนุญาต (ซึ่งตามร่างแก้ไขวิอาญานี้ อย่างน้อยน่าจะดีกว่ามาตรา 34 ตามร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ที่ไม่ระบุถึงการพิจารณาของหน่วยงานตุลาการที่เป็นอิสระเลย)
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) รวบรวมร่างกฎหมายที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาไว้ที่ http://ilaw.or.th/NLAWatch เครือข่ายพลเมืองเน็ตขอตัดมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีและสิทธิเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร ดังนี้
กฎหมาย | เสนอโดย | สถานะ | สาระสำคัญ |
---|---|---|---|
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องสงสัย) | สำนักงานตำรวจแห่งชาติ | เตรียมเสนอต่อ สนช. | 1) กำหนดให้พนักงานสอบสวนดักรับข้อมูลเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตามขั้นตอนและเงื่อนไขที่กำหนด2) กำหนดให้ศาลมีอำนาจสันนิษฐานเป็นผลร้ายแก่จำเลย กรณีในชั้นสอบสวนผู้ต้องหา (จำเลย) ไม่ตอบคำถามและนำประเด็นที่ไม่ได้ตอบนั้นยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาอ่านความคิดเห็นจากงานเสวนา “ความจำเป็นของการมีกฎหมายดักรับข้อมูลเพื่อใช้ในการอำนวยความยุติธรรม” |
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย | กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ | เตรียมเสนอต่อ สนช. | ป้องกันและปราบปรามสื่อรูปแบบต่างๆ ที่จะกระตุ้น ส่งเสริม หรือยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมอันตราย โดยกำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สามารถเข้าตรวจค้น ยึด หรืออายัดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกำหนดความผิดของผู้ให้บริการ (ร่างมาตรา 22 มีลักษณะเดียวกับมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯปัจจุบัน) |
ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว หลักเกณฑ์การบังคับคดีผู้ประกัน และการอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว) | สำนักงานศาลยุติธรรม | เตรียมเสนอต่อ สนช. | กำหนดให้ศาลหรือเจ้าพนักงานที่สั่งปล่อยชั่วคราวมีอำนาจสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการติดตามตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ในกรณีที่ผู้นั้นยินยอม |
ร่าง พ.ร.บ.สภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย | (ไม่มีข้อมูล) | เตรียมเสนอต่อ สนช. | (ไม่มีข้อมูล) |
ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ | กระทรวงวัฒนธรรม | อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. | จัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการผลิต การพัฒนา และการเผยแพร่สื่อ ที่มีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพฤติกรรมที่ดีของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาสื่อ |
ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (กำหนดความผิดเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอในโรงหนัง) | 27 พ.ย. 57 มติวาระสามเห็นชอบ | แก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพิ่มความผิดเกี่ยวกับการทำซ้ำโดยการบันทึกเสียงหรือภาพหรือทั้งเสียงและภาพ จากโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต และเพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าว (เพิ่มมาตรา 28/1 และมาตรา 69/1) เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการทางการมองเห็น คนพิการทางการได้ยิน คนพิการทางสติปัญญา (เพิ่มมาตรา 32 วรรคสอง (9)) | |
ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (คุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ) | 27 พ.ย. 57 มติวาระสามเห็นชอบ | แก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพิ่มบทนิยามคำว่า “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” “มาตรการทางเทคโนโลยี” และ “การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี” เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์กรณีการจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมี ลิขสิทธิ์ กรณีการทำซ้ำที่จำเป็นในระบบคอมพิวเตอร์ เพิ่มอำนาจศาลให้สั่งริบสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอัน เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ |
ติดตามร่างกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ได้ที่เว็บไซต์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (senate.go.th) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (parliament.go.th) และ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (soc.go.th)
ค้นหามติรัฐมนตรี | ค้นความเห็นต่อร่างกฎหมายโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา | ค้นหากฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา)
รับข่าวสารจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ผ่านหน้าเฟซบุ๊ก Thai Netizen Network ทวิตเตอร์ @thainetizen และกูเกิลพลัส +Thai Netizen และแสดงความคิดเห็นได้ที่กลุ่มเฟซบุ๊ก Thai Netizen Network (group)
Tags: Computer-related Crime Act, data protection, digital economy, National Broadcasting and Telecommunications Commission, National Cybersecurity Bill, National Cybersecurity Committee, privacy