Thai Netizen Network

[22 พ.ย.] การแสดงออกทางการเมือง การแทรกแซงโดยรัฐ และการยุติการไม่รับผิด ในอาเซียนระยะเปลี่ยนผ่าน

การแสดงออกทางการเมือง การแทรกแซงโดยรัฐ และการยุติการไม่รับผิด ในอาเซียนระยะเปลี่ยนผ่าน

เสวนา “การยกเลิกความผิดจากการแสดงออกทางการเมืองในอาเซียนระยะเปลี่ยนผ่าน” และปาฐกถาโดย Frank La Rue ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติด้านเสรีภาพการแสดงออก

ศุกร์ 22 พฤศจิกายน 2556 14:30-20:00 [Facebook event] [Google+ event]
ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [แผนที่]

มีแปลอังกฤษ<->ไทยตลอดการประชุม

“Political Expression, Violations, and Impunity in Transitional ASEAN” seminar and “Implication of States’ surveillance of communications on the exercise of human rights to privacy and to freedom of expression,” a Keynote Speech by UN Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression, Frank La Rue

Friday 22 Nov 2013 14:30-20:00  [Facebook event] [Google+ event]
4th Floor, Prajadhipok-Rambhai Barni Building, Faculty of Political Science, Chulalongkorn University [maps]
With Thai<->English translations.

กำหนดการ

หลักการและเหตุผล

สืบเนื่องจากการพิจารณาออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ได้นำไปสู่การอภิปรายถึงประเด็นดังกล่าวในสังคมว่า การนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดดังกล่าวนั้นเหมาะสมเพียงใด และการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวจะสร้างผลกระทบทางสังคมอย่างไร

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่เพียงเกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น กระแสความต้องการความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้นของประชาชนในประเทศกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุม สภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่น สิทธิในการเลือกตั้งและอำนาจในการปกครองตัวเอง การต่อต้านการทุจริต ความไม่พอใจการดำเนินนโยบายที่ไม่โปร่งใส รวมไปถึงความขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม ฯลฯ นำมาสู่ขบวนการทางสังคมและการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ บนสื่อและบนท้องถนน ซึ่งในหลายครั้งตามมาด้วยการเผชิญหน้าระหว่างมวลชน การปราบปรามจับกุมโดยรัฐ และการออกกฎหมายควบคุมการแสดงออกที่เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ในบางประเทศของอาเซียนก็มีความพยายามในการยกเลิกความผิดจากการแสดงออก ผ่อนปรนการควบคุมสื่อ และปล่อยนักโทษการเมือง เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคม

ในโอกาสวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการไม่รับผิดของผู้กระทำผิด (International Day to End Impunity) ในวันที่ 23 พฤศจิกายน[1] และในโอกาสที่ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพการแสดงออก นาย Frank La Rue เยือนประเทศไทยเพื่อร่วมเวทีปรึกษาหารือระดับภูมิภาคเอเชียเพื่อจัดทำรายงานเรื่องการแสดงออกทางการเมืองและการแสดงออกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อีกทั้งเห็นความสำคัญของการหาความรู้ในประเด็นนโยบายของรัฐต่อการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคม สถาบันเอเชียศึกษาและศูนย์ศึกษานโยบายสื่อจึงเห็นสมควรให้มีการเสวนาสาธารณะในเรื่องดังกล่าว โดยเชิญผู้มีความรู้ในสาขาต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

[1] ตรงกับวันที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่มากวินดาเนา (Maguindanao massacre) ในประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 58 รายในบริเวณขบวนรถของผู้สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในจำนวนนี้มีภรรยาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และนักข่าวอีก 32 ราย วุฒิสภาฟิลิปปินส์ประกาศรับรองให้วันดังกล่าวเป็นวันรณรงค์แห่งชาติเพื่อยุติการไม่รับผิดของผู้กระทำผิด (National Day to End Impunity)

เอกสารประกอบการเสวนา

งานประชุมที่เกี่ยวข้อง: Freedom of Expression for Civil Liberties in Asia (21-23 พ.ย. 2556)

 

Exit mobile version