แถลงการณ์: รัฐต้องไม่นิรโทษกรรมตัวเอง กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการสืบสวนและถูกบันทึก

2013.10.30 22:57

แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต

“รัฐต้องไม่นิรโทษกรรมตัวเอง กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการสืบสวนและถูกบันทึก”

ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ต่อเนื่องสู่การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และเหตุการณ์หลังจากนั้น การแสดงออกทางการเมืองได้ทวีความเข้มข้นและขยายตัวมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการชุมนุมบนพื้นที่กายภาพและการแสดงความคิดเห็นบนพื้นที่สื่อทุกชนิด ซึ่งในหลายวาระก็ตามมาด้วยการปะทะกัน ทั้งระหว่างประชาชนกับรัฐ ประชาชนกับประชาชน หรือกับกลุ่มไม่ทราบฝ่าย ทั้งด้วยกำลังและด้วยการดำเนินคดีตามกฎหมาย

ในส่วนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งรวมถึงนักข่าวและอาสาสมัครกู้ชีพ เป็นที่ชัดเจนว่าพบการใช้มาตรการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างการชุมนุมและการสลายการชุมนุม ซึ่งจำเป็นต้องมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป

ในส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดี ปรากฏการกล่าวหาว่ามีความผิดตามกฎหมายความมั่นคงฉบับต่างๆ ที่ประกาศใช้ในเวลานั้น หรือตามกฎหมายที่กำหนดให้การแสดงออกบางลักษณะเป็นอาชญากรรม หรือตามกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงแต่ถูกใช้เพื่ออ้างเหตุให้จับกุมฟ้องร้องได้ กฎหมายต่างๆ ดังกล่าวเช่น พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551

คดีเหล่านั้นจำนวนหนึ่ง อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลสั่งยกฟ้อง หรือศาลตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิด (แต่ติดคุกไปแล้วหลายปี) อย่างไรก็ตามยังมีคดีอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม และบางคดีก็ยังใช้พยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ยอมรับต่อศาลในคดีอื่นแล้วว่า เป็นหลักฐานที่หน่วยงานความมั่นคงที่ตนสังกัดสร้างขึ้นมาโดยหวังผลทางการเมือง

เนื่องด้วยขณะนี้กำลังมีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อยกเลิกความผิดทางการเมืองและความผิดที่เกี่ยวข้องกับการปะทะกันทางการเมืองทั้งหมด “แบบเหมาเข่ง” โดยการสนับสนุนของพรรคเพื่อไทยและส่วนหนึ่งของกลุ่มคนเสื้อแดง เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

  1. การนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรองดอง ซึ่งยังประกอบไปด้วยกระบวนการค้นหาความจริง การนำผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ การขอโทษอย่างเป็นทางการ การทำให้มีหลักประกันว่าจะไม่มีการกระทำผิดซ้ำอีก และการเยียวยาอื่นๆ
  2. การนิรโทษกรรมจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วน คำนึงถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย ให้สามารถกลับไปมีเสรีภาพดังเดิมโดยเร็วที่สุด คำนึงถึงประโยชน์ที่กลุ่มประชาชนดังกล่าวจะได้รับ พร้อมกับรักษาสิทธิในการได้รับการเยียวยาทางจิตใจ
  3. การนิรโทษกรรมกลุ่มบุคคลที่แสดงออกทางการเมืองด้วยการร่วมชุมนุมและการแสดงออกรูปแบบอื่นๆ เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้กระบวนการการเมืองในสังคมเดินต่อไปได้
  4. การนิรโทษกรรมจะต้องไม่รวมถึงผู้มีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ผู้มีส่วนร่วมดังกล่าวทั้งหมดจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้นหาความจริงและการเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้เสียหาย
  5. การนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการแยกประเภทของฐานความผิดหรือมูลเหตุชักจูงใจ ไม่มีการกำหนดว่าผู้กระทำผิดจะต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้างก่อนจะได้รับนิรโทษกรรม เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด และจะทำให้สังคมไทยไม่หลุดจากวังวนของการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำซาก

การบิดเบือนการนิรโทษกรรม จะเป็นการ “กลับไปเริ่มจากศูนย์” ในวันนี้ เพื่อพบว่าจะต้อง “กลับไปเริ่มจากศูนย์” ในวันข้างหน้าอีกไม่รู้จบ เราขอเชิญชวนทุกฝ่ายที่ต้องการเห็นความปรองดองเกิดขึ้นจริง ร่วมกันคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไขที่กำลังถูกพิจารณาอยู่ในขณะนี้

เครือข่ายพลเมืองเน็ต
30 ตุลาคม 2556

วันสากลเพื่อหยุดการไม่ต้องรับผิด

Tags: , ,
%d bloggers like this: