ทำไมต้องกลัวถูกดักฟัง แม้คุณจะไม่มีอะไรต้องซ่อน?

2013.09.09 11:33

“ถ้าคุณไม่มีอะไรต้องซ่อน งั้นหมายความว่าคุณจะให้ผมถ่ายรูปคุณเปลือย และผมจะมีสิทธิเต็มที่ในรูปภาพนั้น ผมจะโชว์รูปให้เพื่อนบ้านของคุณดูได้ไหม…”

นั่นเป็นคำตอบจากผู้อ่านบล็อกของแดเนียล โซโลฟ (Daniel Solove) เมื่อเขาถามว่าคิดอย่างไรกับข้อถกเถียงเรื่อง “ไม่มีอะไรต้องซ่อน” (Nothing To Hide)

เมื่อได้ยินว่ารัฐบาลรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของประชาชน คนส่วนใหญ่มักบอกว่าพวกเขาไม่วิตกกังวล “ฉันไม่มีอะไรจะต้องซ่อน” พวกเขาประกาศ “หากว่าคุณไม่ได้ทำผิดก็ไม่มีอะไรต้องกังวล และไม่จำเป็นต้องรักษาความเป็นส่วนตัว”

ภาพประกอบโดย Grea จาก grea.net

ประโยคที่ว่าไม่มีอะไรต้องปกปิดนั้น ต่อยอดมาจาก “สมมติฐานแบบผิดๆ ที่ว่า ความเป็นส่วนตัวเกี่ยวข้องกับการซุกซ่อนความผิด”

การสอดส่องสามารถยับยั้งกิจกรรมที่ถูกกฎหมาย เช่น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการสื่อสาร และเสรีภาพในการรวมตัวสมาคม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากของระบอบประชาธิปไตย

การเปรียบเทียบที่น่าจะเข้าท่าคือ นวนิยาย “คดีความ” (The Trial) ของ ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka)*

จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่ชายคนหนึ่งถูกจับกุมโดยที่ตัวเขาไม่รู้สาเหตุ เขาพยายามค้นหาชนวนเหตุที่ทำให้เขาถูกจับและหาว่ามันเกี่ยวกับเขาอย่างไร เขาพบว่าระบบศาลอันเร้นลับมีข้อมูลเกี่ยวกับเขามากมาย มันกำลังสืบสวนสอบสวนเขา แต่เขาก็ไม่รู้อะไรมากไปกว่านี้

“คดีความ” ฉายภาพระบบรัฐแบบราชการ (bureaucracy) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่เข้าใจยาก โดยใช้ข้อมูลของบุคคลต่างๆ เพื่อตัดสินใจสิ่งที่สำคัญต่อบุคคลเหล่านั้น แต่ปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมว่าข้อมูลของตัวเองถูกนำไปใช้อย่างไร

ปัญหาที่นำเสนอในงานของคาฟคาเป็นปัญหาที่มีลักษณะต่างจากปัญหาที่เกิดจากการสอดส่อง

มันไม่ได้อยู่ในลักษณะการห้ามดูข้อมูล แต่เป็นปัญหาเรื่องวิธีการปฏิบัติกับข้อมูล อันได้แก่ การจัดเก็บ การใช้ หรือการวิเคราะห์ข้อมูล มากกว่าแค่การรวบรวมข้อมูล กระบวนการเหล่านี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบุคคลกับสถาบันของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งไม่เพียงแค่ทำให้คนตื่นตระหนกด้วยการสร้างความรู้สึกของการไร้อำนาจเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อโครงสร้างทางสังคมด้วยการเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อสถาบันทางสังคมที่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญของพวกเขา

สิ่งที่อันตรายอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่เรียกว่า “การรวบรวมข้อมูล” ซึ่งเป็นการรวบรวมเอาชิ้นส่วนเล็กๆ ของข้อมูลที่ดูเหมือนจะไม่มีอันตรายไว้ด้วยกัน (เช่นข้อมูลที่เราเรียกว่า metadata) เมื่อมันรวมตัวกัน ข้อมูลเหล่านี้สามารถบอกเรื่องราวได้มากมาย

ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ แยกส่วนในแต่ละคราว เราอาจไม่รู้สึกอะไรกับระบบรักษาความปลอดภัย

รัฐบาลสามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเราซึ่งเราอาจจะอยากปกปิดเอาไว้ได้ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณซื้อหนังสือเกี่ยวกับโรคมะเร็ง การซื้อนี้ไม่ได้เปิดเผยตัวมันเอง มันเพียงแค่เป็นตัวชี้วัดถึงความสนใจต่อโรค สมมติว่าคุณซื้อวิกผม การซื้อวิกผมอาจจะมาจากหลายเหตุผล แต่การรวมข้อมูลสองอย่างนี้ไว้ด้วยกัน มันอาจจะทำให้เชื่อมโยงได้ว่าคุณเป็นมะเร็งและอยู่ในขั้นตอนทำคีโม อาจจะจริงที่ว่าคุณไม่กังวลที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่คุณก็ต้องการที่จะมีตัวเลือกบ้าง

ปัญหาที่ทรงพลังมากต่อมาในเรื่องการลงทุนของรัฐบาลต่อข้อมูลส่วนบุคคลคือ สิ่งที่เรียกว่า “การถูกกันออกไป” การถูกกันออกไปเกิดขึ้นเมื่อผู้คนไม่รู้ว่าข้อมูลที่เกี่ยวกับพวกเขาถูกใช้อย่างไร และเมื่อพวกเขาถูกกีดขวางจากการเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด

ระบบรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลหลายประเทศดูแลรักษาฐานข้อมูลที่ใหญ่มากซึ่งปัจเจกบุคคลไม่สามารถเข้าถึงได้ อันที่จริงแล้ว เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชาติ การมีอยู่ของระบบเหล่านี้มักถูกเก็บเป็นความลับ

กระบวนการจัดเก็บข้อมูลในลักษณะนี้ซึ่งกีดขวางความรู้และการข้องเกี่ยวของบุคคลเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการที่ผู้คนได้รับการปฏิบัติจากสถาบันของรัฐ และสร้างความไม่สมดุลเชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน

รัฐบาลควรมีอำนาจเหนือพลเมืองหรือไม่ ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ประชาชนอยากจะซ่อน แต่เกี่ยวข้องกับอำนาจและโครงสร้างของรัฐ

น้อยมากที่ความเป็นส่วนตัวจะสูญเสียไปในคราวเดียว มันมักจะถูกกัดเซาะไปตามกาลเวลาทีละน้อย และละลายไปโดยที่เราไม่ทันรับรู้ จนกระทั่งเราเริ่มสังเกตเห็นว่ามันหายไปมากแค่ไหน

เมื่อรัฐบาลเริ่มเฝ้าดูหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชน คนจำนวนมากอาจจะยักไหล่ แล้วบอกว่า “มันก็แค่หมายเลขโทรศัพท์เท่านั้นเอง”

เมื่อรัฐบาลเริ่มค้นติดตั้งกล้องวิดีโอวงจรปิดในพื้นที่สาธารณะ “แล้วไงเหรอ ก็แค่นั้นเอง มีกล้องไม่กี่ตัวจับตาดูบางพื้นที่เอง ไม่มีปัญหาอะไรนักหนา”

จำนวนที่เพิ่มขึ้นของกล้องวงจรปิดอาจนำไปสู่เครือข่ายที่มากขึ้นของการสอดส่องด้วยวิดีโอ การสอดส่องทางไกลอาจช่วยเพิ่มการติดตามการเคลื่อนไหวของประชาชน

รัฐบาลอาจเริ่มต้นวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินในธนาคารของประชาชน “มันก็แค่บันทึกการใช้บัตรเครดิตที่ฉันต้องจ่ายอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร”

จากนั้นรัฐบาลก็อาจจะเริ่มต้นรวบรวมข้อมูลการใช้บัตรเครดิต จากนั้นก็ขยายไปสู่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต บันทึกเรื่องสุขภาพ ข้อมูลการจ้างงาน แต่ก้าวอาจจะดูเหมือนว่ามันเพิ่มขึ้นเพียงทีละน้อย แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง รัฐบาลจะจับตาดู และรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับเรา

“ชีวิตของฉันเหมือนกับหนังสือที่เปิดไว้อยู่แล้ว” คนอาจจะพูดกันแบบนี้ “ฉันไม่มีอะไรต้องซ่อน” แต่ตอนนี้รัฐบาลมีข้อมูลที่ใหญ่มากของประชาชนในทุกกิจกรรม ความสนใจ อุปนิสัยเกี่ยวกับการอ่าน การเงิน สุขภาพ ถ้ารัฐบาลเผยแพร่ข้อมูลนี้สู่สาธารณะจะเป็นอย่างไร

จะเกิดอะไรขึ้นถ้ารัฐบาลกำหนดอะไรผิดพลาดซึ่งเป็นผลมาจากแบบแผนของกิจกรรม คุณอาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม จะเป็นอย่างไรหากว่าคุณถูกห้ามขึ้นเครื่องบิน จะเกิดอะไรขึ้นถ้ารัฐบาลคิดว่าธุรกรรมทางการเงินของคุณน่าสงสัย แม้ว่าคุณจะทำด้วยความปลอดภัยมากพอแล้วก็ตาม และมีการปลอมแปลงตัวตนของเราและใช้มันหลอกลวงคุณ แม้ว่าคุณจะไม่มีอะไรต้องซ่อน รัฐบาลก็อาจทำให้คุณตกอยู่ในอันตรายได้มากมาย

“แต่รัฐบาลไม่ได้อยากจะทำให้ฉันเสียหาย” อาจจะมีใครเถียงขึ้นมา ซึ่งมันก็จริงในหลายกรณี กระนั้นก็ตามรัฐบาลสามารถทำให้ประชาชนตกอยู่ในอันตรายได้ โดยไม่เจตนา เนื่องมาจากความผิดพลาดหรือความประมาท

แปล-ตัดบางส่วน-เรียบเรียง จากบทความชื่อ Why Privacy Matters Even if You Have ‘Nothing to Hide’ โดย Daniel J. Solove

* “คดีความ” (The Trial) ฉบับแปลไทย จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สามัญชน พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2531

Tags: , , , , ,
%d bloggers like this: