Thai Netizen Network

มองความสัมพันธ์ทางการผลิตข่าวบันเทิง ผ่านวิวัฒนาการเทคโนโลยี (ตอนที่ 1 )

โดย พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ

เมื่อประมาณสิบปีก่อนนักเทคโนโลยีและนักสื่อสารมวลชนบางส่วนได้มีการทำนายถึงอนาคตของรูปแบบในการสื่อสารที่เปลี่ยนไป บ้างทำนายว่าสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษจะหมดความสำคัญลง ซึ่งในยุคปัจจุบันก็ได้พิสูจน์แล้วว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงมีความสำคัญอยู่ ถึงแม้มูลค่าทางการตลาดจะลดลงจำนวนไม่น้อย แต่ในปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีมีราคาที่ถูกลงและรวดเร็วมากขึ้นสิ่งที่เข้ามาทดแทนก็คือช่องทางในการเข้าถึงข่าวสารใหม่ๆ นั่นก็คือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ที่มีราคาตั้งแต่หลักไม่กี่พันถึงหลักหมื่นต้นๆ ให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้

นักเทคโนโลยีและนักสื่อสารมวลชนก็เคยทำนายเช่นเดียวกันว่าการกำเนิดขึ้นของชนชั้นนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า Mobile Journalists หรือ MoJo จะแพร่หลายมากขึ้นในเมื่อทุกๆคนสามารถเล่นบทบาทของผู้สื่อข่าวได้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่เราอาจจะลืมพูดในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือ การสื่อสารในรูปแบบใหม่ก็สร้างผู้อ่านกลุ่มใหม่เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการสื่อสารแบบตัดตัวกลางออกคือ สามารถเลือกสื่อสารกับแหล่งข่าวได้โดยตรง

ในประเทศไทยนั้นเราจะเห็นลักษณะการสื่อสารดังกล่าวชัดเจนที่สุดกับวงการข่าวบันเทิง ที่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ทำให้เราสามารถสื่อสารได้กับดาราโดยตรง หากมองเฉพาะวิวัฒนาการความสัมพันธ์ของวงการบันเทิงไทยระหว่างศิลปินดารากับกลุ่มแฟนคลับ ในวันนี้ถือว่ารูปแบบความสัมพันธ์นั้นเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก

ในอดีตยุคหลังปี 2500 การได้พบกับตัวตนของศิลปินดารานั้น สามารถทำได้ยากมากเนื่องจากอัตราเฉลี่ยระหว่างดารากับประชาชนนั้นอยู่ในอัตราที่น้อยมาก ดาราจึงมีลักษณะเป็นกลุ่มบุคคลเฉพาะที่มีสถานะทางสังคมเป็นดั่งบุคคลพิเศษ การที่จะได้พบเห็นดาราในแต่ละครั้งนั้น อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ซับซ้อน เช่น การจ้างงานโชว์ตัวประเภทปิดโรงภาพยนตร์ หรือพิธีการบวงสรวงเปิดกองภาพยนตร์ต่างๆ ข่าวคราวเกี่ยวกับดารานั้นเป็นรูปแบบการสื่อสารทางเดียวซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบข่าวแจกจากกองภาพยนตร์ต่างๆ ที่มีการคัดกรอง ดังนั้นดาราในยุคนั้นมีอิทธิพลในการกำหนดการสื่อสารต่อรองได้ เช่น ดาราบางคนสามารถปกปิดข่าวการมีครอบครัวของตนเอง จนมาถึงยุคที่สังคมเปิดกว้างให้พระเอก-นางเอกมีครอบครัวได้

ต่อมาในช่วงยุคหลัง 2520 ดาราเริ่มมีจำนวนที่มากขึ้นโดยเฉลี่ย การสื่อสารเทคโนโลยีต่างๆ ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น เช่น การเกิดขึ้นของโทรทัศน์ที่มีราคาถูกลงที่กลายเป็นสื่อบันเทิงประจำครอบครัวที่มีกำลังซื้อและแหล่งชุมชนที่เป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น ร้านกาแฟและร้านเสริมสวย การเกิดขึ้นของเครื่องเล่นวีดีโอที่ทำให้ภาพยนตร์ที่ลาโรงแล้วสามารถนำมาฉายซ้ำได้ สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงการสื่อสารอย่างไร? การที่ผู้ชมได้รวมกลุ่มกันวิพากษ์วิจารณ์ทำให้สถานะศักดิ์สิทธิ์ของดารานั้นลดน้อยถอยลง ผู้ชมมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น สิ่งที่วัดระดับสมัยนั้นที่เรียกว่าเรตติ้ง (rating) สามารถยืนยันความนิยมของแต่ละคนได้ ดังนั้นผู้จัดละคร หรือสื่อมวลชนจึงเริ่มเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ทั้งในด้านการปรับภาพลักษณ์ของดารา การกำหนดความนิยมว่าจะให้ใครรุ่งหรือร่วง รวมไปถึงดาราเองก็ใช้สื่อมวลชนเป็นเผยแพร่สารของตนไปสู่กลุ่มผู้ชม เราจะเห็นการเกื้อหนุนของระบบนี้ได้ดีที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว

สถานะดังกล่าวดำรงต่อเนื่องมาจนถึงช่วงยุคทศวรรษก่อนแต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบผ่านเทคโนโลยีอยู่บ้าง เช่น จากแผ่นเสียง สู่เทป มาถึงซีดี หรือการขยายโอกาสในด้านของภาพยนตร์สู่ระบบมัลติเพล็กซ์ แต่ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปร่างของ สื่อกลางที่นำสารต่างๆ ไปยังกลุ่มผู้รับสารเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างดารา นักข่าว และผู้รับสารเปลี่ยนไปตลอดกาล มีอยู่สองปัจจัยด้วยกัน อันได้แก่ การเข้ามาถึงเข้ายุคดิจิทัล และ จำนวนสัดส่วนระหว่างดารากับแฟนๆ

ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งมาพร้อมกับราคาที่ถูกลงของ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและระบบสื่อความบันเทิงดิจิทัลทั้งเอ็มพีสาม (MP3) และโทรศัพท์มือถือที่เริ่มสามารถให้กลุ่มผู้ชมมีสถานะเป็นผู้เลือกได้มากขึ้น เช่น เราสามารถเลือกเพลงผ่านเอ็มพีสามโดยคละศิลปิน คละค่าย คละภาษา ผ่านโปรแกรมที่ใช้ฟังเพลงบนคอมพิวเตอร์ได้ แทนที่จะต้องเลือกฟังจากซีดีหลายๆ แผ่นจากหลายๆ ศิลปิน ปัญหาและปัจจัยของความแพร่หลายของยุคดิจิทัลในยุคแรกก็คือ ราคาที่ยังสูงอยู่ และลักษณะการพกพาที่ยังไม่สามารถทำได้สะดวกนัก ซึ่งในช่วงนั้นสื่อมวลชนบางส่วนได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้รองรับยุคดิจิทัลแล้ว เช่น การแยกกองบรรณาธิการสิ่งพิมพ์และกองบรรณาธิการเว็บข่าวของเครือผู้จัดการ รวมไปถึงวัฒนธรรมเว็บบอร์ดที่เฟื่องฟูในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ผู้รับสารสามารถมีสิทธิ์มีเสียงในการวิจารณ์และให้ความเห็นส่วนตัวต่อผลงานต่างๆ ซึ่งเป็นการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของนักวิจารณ์ตามหน้าสื่อบันเทิงตามต่างๆ ทางด้านค่ายบันเทิงต่างๆ ก็มีการปรับกลยุทธ์ทั้งในการลดราคาผลงานเช่น ซีดี ในราคาที่ถูกลงเพื่อให้สามารถรักษากลุ่มแฟนๆ ไว้ได้ ทั้งยังให้เลือกซื้อสินค้าลิขสิทธิ์ รวมไปถึงการออกกลยุทธการตลาดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ในช่วงเวลานั้น

โปรดอ่านต่อตอนหน้า มองความสัมพันธ์ทางการผลิตข่าวบันเทิง ผ่านวิวัฒนาการเทคโนโลยี (ตอนจบ) — “พายุดิจิทัล” กับสภาวะพึ่งพาซึ่งกันและกัน” ทางเว็บไซต์ thainetizen.org

Exit mobile version