Thai Netizen Network

วัยรุ่นอเมริกันห่วงชื่อเสียงมากกว่าความเป็นส่วนตัว เลือกแชร์-ลบ-คบเพื่อนบนโซเชียลมีเดีย

วัยรุ่นอเมริกันห่วงชื่อเสียงมากกว่าความเป็นส่วนตัว พบร้อยละ 95 ใช้อินเทอร์เน็ต เกือบทั้งหมดใช้เฟซบุ๊กและเกือบทั้งหมดเป็น “เพื่อน” กับสมาชิกในครอบครัว ในขณะที่อินสตาแกรมได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากวัยรุ่นรู้สึกแสดงออกได้มากกว่า นักวิจัยตั้งข้อสังเกต วัยรุ่นไม่ไร้เดียงสา รู้ว่าควรแชร์อะไรในบริบทไหน

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต จัดบรรยายสาธารณะเรื่อง “วัยรุ่น สื่อสังคม และอนาคตของความเป็นส่วนตัว” (Youth, Social Media and the Future of Privacy) ณ อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี เอิร์ส แกซเซอร์  ศาสตราจารย์ปฏิบัติวิชาชีพ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์ดวาร์ด และผู้อำนวยการบริหารศูนย์เบิร์กมานเพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคม เป็นผู้บรรยาย

เอิร์ส แกซเซอร์ (Urs Gasser) ศึกษาคนรุ่นดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงทางมโนทัศน์ และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจากผลงานหนังสือ “Born Digital: Understanding the first-generation of digital natives” ซึ่งเขาเขียนร่วมกับ จอห์น พาลเฟรย์ (John Palfrey)

ในการบรรยายดังกล่าว แกซเซอร์นำเสนอข้อค้นพบจากงานวิจัยในโครงการเยาวชนกับสื่อ (Youth and Media) ซึ่งศึกษาการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของวัยรุ่นอเมริกันอายุ 12-17 ปี โดยสัมภาษณ์แบบกลุ่ม พ่อแม่ 802 คน และวัยรุ่น 802 คน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555

จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า วัยรุ่นชาวอเมริกันจำนวนร้อยละ 95 ใช้อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 74 เข้าถึงผ่านโทรศัพท์มือถือ) เว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเฟซบุ๊ก (ร้อยละ 94) นอกจากนี้ วัยรุ่นเกือบทั้งหมดเป็น “เพื่อน” กับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ครึ่งหนึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับลูกบนเว็บไซต์เครือข่ายสังคม อย่างไรก็ตามแม้เฟซบุ๊กจะมีเป็นเครือข่ายที่มีผู้ใช้มากที่สุด แต่แนวโน้มที่น่าสนใจคือ วัยรุ่นเริ่มหันไปใช้อินสตราแกรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในด้านข้อมูลส่วนตัว คณะวิจัยพบว่าวัยรุ่นเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าในอดีต ตัวอย่างเช่น การลงรูปของตัวเองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 91 ในปี 2554 อย่างไรก็ตามวัยรุ่นมีวิธีจัดการความสัมพันธ์และการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตัวเอง เช่น การลบเพื่อน การลบข้อความที่โพสต์ไว้ก่อนหน้านี้ การลบความคิดเห็น การเอาแท็กหรือป้ายระบุชื่อออก หรือการบล็อกเพื่อนบางคน เป็นต้น

การเป็น “เพื่อน” กับพ่อแม่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์สัมพันธ์กับวิธีการที่วัยรุ่นจัดการกับข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง โดยสาเหตุที่ทำให้พวกเขาหันไปใช้อินสตาแกรมเนื่องจาก วัยรุ่นรู้สึกว่าบนเฟซบุ๊กเต็มไปด้วยการตัดสิน เมื่อใดก็ตามที่โพสต์ข้อความลงไป ก็มักจะมีความคิดเห็นอยู่เสมอ พวกเขาต้องคอยโพสต์สิ่งที่ดี เพราะมีคนเฝ้าดูอยู่ พวกเขารู้สึกว่าสามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงบนอินสตาแกรมได้มากกว่า ขณะเดียวกันข้อห้ามต่างๆ จากผู้ใหญ่ที่คอยบอกว่าพฤติกรรมเช่นใดไม่เหมาะสมบ้าง เป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าจะต้องมีการควบคุมตนเองในการเผยแพร่ข้อมูลด้วย

สำหรับวัยรุ่นอเมริกันแล้ว พวกเขาสนใจเรื่องชื่อเสียงของตนเองมากกว่าคำนึงถึง “ความเป็นส่วนตัว” พวกเขาใช้เรื่องนี้กำหนดว่าจะแชร์หรือไม่แชร์อะไร แน่นอนว่าวัยรุ่นใส่ข้อมูลของตัวเองลงในเฟซบุ๊กมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่น่าสนใจคือ มีส่วนน้อยที่เปิดแบบสาธารณะ วัยรุ่นยังคงแชร์ข้อมูลส่วนตัว แต่พวกเขามีสติต่อสิ่งที่ตนเองแชร์ โดยพิจารณาว่าแชร์ข้อมูลกับใคร และในบริบทไหน จากการสำรวจยังพบด้วยว่า วัยรุ่นกว่าร้อยละ 60 ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและจัดการข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง ดังนั้นพวกเขาจึงรู้สึกว่าความเป็นส่วนตัวยังอยู่ภายใต้ความควบคุมอยู่

สิ่งที่เป็นช่องว่างทางความคิดระหว่างผู้ใหญ่และวัยรุ่นอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การนำข้อมูลของบุคคลที่ 3 (third party) ไปใช้เพื่อการค้า ขณะที่ผู้ใหญ่กังวลว่าข้อมูลของลูกๆ เช่น การกดไลก์ การโพสต์ภาพ จะถูกบริษัทโฆษณานำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ แต่วัยรุ่นเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ บางส่วนเห็นว่ามันน่ารำคาญ บางส่วนเห็นว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แกซเซอร์ตั้งข้อสังเกตว่า วัยรุ่นอาจจะมองไม่เห็นภาพรวมของการเชื่อมโยงกันในธุรกิจต่างๆ มากเท่ากับผู้ใหญ่

แกซเซอร์ยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า ตอนแรกที่เราเริ่มต้นใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ใหญ่อย่างเราเริ่มจากความคิดที่เสรีมากๆ เช่น รับเพื่อนเยอะไปหมด แต่ต่อมาเราก็เริ่มเข้มงวดและระวังมากขึ้น วัยรุ่นก็เช่นกัน พวกเขาอาจจะคิดต่างจากพ่อแม่มากในเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่พวกเขาก็ไม่ได้ไร้เดียงสาจนเกินไป

ข้อมูลเพิ่มเติม

Exit mobile version