Thai Netizen Network

เปิดงานวิจัย Hate Speech คำพูดเกลียดชังออนไลน์ไทย นิยามหลายระดับ กำกับต้องดูวัตถุประสงค์

เปิดงานวิจัย Hate Speech ออนไลน์ไทย

26 กรกฎาคม 2556 — ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลงานวิจัย เรื่อง “การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” พบเนื้อหาที่แสดงความเกลียดชังมีหลายประเภท แยกได้ตามวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย และระดับความรุนแรงในการแสดงออก เสนอการกำกับดูแลแบบผสมผสานที่เข้ากับเนื้อหาแต่ละประเภท ระบุต้องสร้างความชัดเจน ป้องกันไม่ให้ใช้เป็นข้ออ้างจำกัดเสรีภาพการแสดงออก ทั้งนี้การวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เฮตสปีชออนไลน์

คณะวิจัยได้จำแนกสื่อออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สื่อออนไลน์ วิทยุและโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ โดยในหัวข้อวิจัยย่อยเรื่อง “การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ หัวหน้าโครงการวิจัยนำเสนอว่า ในแต่ละสังคมจะมี “พื้นที่สงวนไว้” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยกเว้นไม่ให้มีเสรีภาพในการแสดงออก เช่น ความศักดิ์สิทธิ์ ความเจ็บปวด เพราะถือว่าเป็นเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังหรือ “เฮตสปีช” (hate speech) เช่น ในสังคมไทยเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ หรือในยุโรปบางประเทศเป็นสัญลักษณ์นาซี

ตัวอย่างของเฮตสปีชในสังคมไทยที่ผ่านมา เช่น การเผยแพร่แนวคิดเรื่อง “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หรือไม่นานนี้คือกรณีของ “ก้านธูป” นักเรียนคนหนึ่งที่ถูกคุกคามและข่มขู่อันเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันบริบทที่เอื้อให้เกิดเฮตสปีชคือ ความขัดแย้งทางการเมืองสูง

ในงานวิจัยนี้พยายามค้นหานิยามเชิงปฏิบัติการของเฮตสปีช ซึ่งเป็นการแสดงออกทุกรูปแบบไม่จำกัดเฉพาะคำพูดเท่านั้น โดยเป็นการโจมตีบุคคลจาก “ลักษณะเฉพาะ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกาย และการทำให้ไม่มีที่ยืนในสังคม

ในบางประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา ไม่มีการใช้แนวคิดเฮตสปีช แต่มีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันคือ “ไฟติ้งสปีช” (fighting speech) ซึ่งหมายถึงการแสดงออกที่ทำให้เกิดการต่อสู้ทำร้ายกัน นอกจากนี้เมื่อมีการอภิปรายเรื่องเฮตสปีชมักควบคู่กับการสร้างสมดุลกับเรื่อง “ฟรีสปีช” (free speech) หรือการแสดงออกอย่างเสรีอยู่เสมอ

“ความเกลียดชัง” หมายถึง การใช้คำพูดหรือการแสดงออกทางความหมายใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคล โดยมุ่งไปที่ฐานของอัตลักษณ์ซึ่งอาจจะติดตัวมาแต่ดั้งเดิม หรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด/ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอื่นที่สามารถทำให้ถูกแบ่งแยกได้ การแสดงความเกลียดชังที่ปรากฏอาจเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงด้วยก็ได้

“ความเกลียดชังออนไลน์” คือ การสื่อสารความหมายตามนิยามในย่อหน้าข้างต้นที่สร้างความเกลียดชัง ทั้งที่เป็นคำพูด ตัวอักษร ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์ เพลง และการสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ ทั้งที่เป็นการผลิตขึ้นมาใหม่ การผสมผสานเนื้อหาใหม่กับเนื้อหาที่มีการผลิตไว้แล้ว และการนำเสนอเนื้อหาที่ผลิตไว้แล้วในรูปแบบใหม่ผ่านพื้นที่ออนไลน์ซึ่งเข้าถึงได้โดยมีเทคโนโลยีเครือข่าย หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

จากนิยามเชิงปฏิบัติการของเฮตสปีชดังกล่าว คณะวิจัยสามารถจำแนกวัตถุประสงค์ของการสื่อสารความเกลียดชังได้ 4 ประเภทใหญ่ คือ 1) ไม่สะท้อนวัตถุประสงค์ชัดเจน 2) มีแนวโน้มสร้างความเข้าใจที่ผิดหรือมีอคติต่อกลุ่มเป้าหมาย 3) ยั่วยุหรือทำให้เกิดความเกลียดชังหรือสบประมาทอย่างร้ายแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย 4) กำจัดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งการปฏิเสธการอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน และการทำร้าย/ทำลายล้างกลุ่มเป้าหมาย

โดยจำแนกกลุ่มเป้าหมาย/ฐานความเกลียดชังได้ 7 ประเภทใหญ่ คือ 1) ชนชาติ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ถิ่นที่อยู่ 2) ชนชั้น 3) ศาสนา และการเข้าร่วมกลุ่มทางศาสนา 4) อุดมการณ์ทางการเมือง 5) ความทุพพลภาพ/โรคภัย 6) เพศสภาพ และเพศวิถี 7) ลักษณะอื่นๆ อันเป็นการแบ่งแยกได้

และวิเคราะห์ระดับความรุนแรงและลักษณะการสื่อสารความเกลียดชังได้ 4 ประเภทใหญ่ คือ 1) การแบ่งแยกแบบไม่ตั้งใจต่อกลุ่มเป้าหมาย 2) การตั้งใจแบ่งแยก/กีดกัน/สร้างความเป็นเขา-เราต่อกลุ่มเป้าหมาย 3) การยั่วยุทำให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย 4) การยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย

คณะวิจัยได้วิเคราะห์เนื้อหาในพื้นที่ออนไลน์ของไทย 3 รูปแบบ คือ 1) กระดานสนทนา ได้แก่ พันทิป.คอม และ เอ็มไทย 2) เครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก และ 3) เว็บไซต์แบ่งปันคลิปวิดีโอ ยูทูบ พบว่าฐานความเกลียดชังอันดับแรกคืออุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง และพบมากที่สุดในยูทูบ ส่วนฐานความเกลียดชังรองลงมาคือศาสนาและชาติพันธุ์

การกำกับดูแลพื้นที่ออนไลน์

พิรงรองยกตัวอย่างความยุ่งยากและซับซ้อนในการพิจารณาเรื่องเฮตสปีชในพื้นที่ออนไลน์ซึ่งมีลักษณะข้ามพรมแดน จากกรณีของเว็บไซต์ยาฮูกับประเทศฝรั่งเศส โดยในหน้าเว็บประมูลสินค้าของยาฮู มีผู้นำเอาของที่ระลึกเกี่ยวกับนาซีมาประมูล ทางการฝรั่งเศสฟ้องคดีอาญาต่อยาฮู เพราะถือว่าแสดงให้เห็นสิ่งของเกี่ยวกับนาซี ทางการฝรั่งเศสถือว่า ความเสียหายเกิดขึ้นในฝรั่งเศสและสั่งให้ยาฮูป้องกันไม่ให้ผู้ใช้เข้าถึงการประมูลดังกล่าวได้ ยาฮูตอบสนองโดยการขึ้นคำเตือนและแก้ไขนโยบายการประมูล ที่สุดแล้วรัฐบาลฝรั่งเศสสั่งปรับยาฮูเป็นเงินจำนวน 1 แสนฟรังค์ ขณะที่รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะบังคับคดี เพราะการตัดสินของรัฐบาลฝรั่งเศสขัดกับรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพการแสดงออก

การกำกับดูแลโดยรัฐบาล (government/state party) ที่ไม่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ ซึ่งมาจากคุณค่าของสังคมที่แตกต่างกัน นำมาสู่ความพยายามให้ชุมชนหรือคนกลางที่อยู่ในสังคมนั้นๆ มาร่วมกำกับดูแล

การกำกับดูแลตนเอง (self-regulation) นั้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเรากำหนดว่าอะไรคือ “ตนเอง” (self) การกำกับดูแลตนเองในอินเทอร์เน็ตสามารถแบ่งออกได้ 4 รูปแบบได้แก่

  1. การกำกับดูแลตนเองโดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (ตนเอง คือ ผู้ใช้) ตัวอย่างที่ชัดเจนคืออินเทอร์เน็ตในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 ที่อินเทอร์เน็ตยังจำกัดอยู่ในแวดวงวิชาการหรือวิชาชีพเฉพาะ ที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานในแต่ละพื้นที่อย่างเจาะจง ผู้ที่ไม่ใช้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวจะถูกตักเตือนหรือประนามจากผู้ใช้อื่น
  2. การกำกับดูแลตนเองโดยชุมชนทางสังคม (ตนเอง คือ สังคม) เช่น Netiquette หรือกฎกติกามารยาทแห่งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การให้อมยิ้มเพื่อแสดงความสนับสนุนให้เว็บบอร์ดพันทิปดอทคอม หรือการแจ้งลบคลิปที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามการกำกับดูแลแบบนี้ก็เปิดโอกาสให้มีการทำร้ายทำลายกันได้
  3. การกำกับดูแลตนเองโดยอินเทอร์เน็ต (ตนเอง คือ ระบบอินเทอร์เน็ต) เป็นการกำกับดูแลโดยกลไกทางเทคนิคหรือการออกแบบของระบบ ที่จะเป็นตัวสร้างข้อจำกัดหรือสร้างศักยภาพ เช่นป การติดตั้งระบบปิดกั้นหรือกรองเนื้อหาอัตโนมัติ หรือการออกกฎหรือมาตรฐาน ซึ่งจะถูกกำหนดขึ้นโดยองค์กรที่มีอำนาจหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น คณะทำงานด้านวิศวกรรมอินเทอร์เน็ต (Internet Engineering Task Force หรือ IETF) หรือ องค์กรเพื่อความร่วมมือด้านการจัดสรรชื่อและหมายเลขอินเทอร์เน็ต (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers หรือ ICANN)
  4. การกำกับดูแลตนเองโดยภาคอุตสาหกรรม (ตนเอง คือ อุตสาหกรรม) เช่น มาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ การจัดระดับเนื้อหา สายด่วนแจ้งเหตุ

ปัจจัยในการเลือกวิธีการกำกับดูแลตนเองนี้ ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจหรือภาระความรับผิดของตัวกลาง ถ้ามีภาระความรับผิดต่ำ ก็มีโอกาสสูงที่ผู้ให้บริการจะใช้การกำกับดูแลภายหลัง (ex-post regulation) ตามแนวทางแจ้งให้ทราบและเอาออก (notice and takedown) แต่ถ้าภาระความรับผิดสูง ก็มีโอกาสสูงที่ตัวกลางใช้การกำกับดูแลก่อน (ex-ante regulation) เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางกฎหมาย

การกำกับดูแล 2.0 (Regulation 2.0)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้เว็บไซต์เข้าสู่ยุคเว็บ 2.0 หรือเว็บที่ผู้ใช้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาได้เอง (user-generated content หรือ UGC) การกำกับดูแลตนเองจึงซับซ้อนมากขึ้น คณะวิจัยประมวลการกำกับดูแล 2.0 ได้ดังนี้

  1. การกำกับดูแลแบบกำกับทีหลัง (ex-post regulation) ซึ่งต้องมีการร้องเรียนก่อน ผู้ดูแลเว็บถึงจะตรวจสอบได้ เช่นยูทูบที่จะนำคลิปออกก็ต่อเมื่อถูกร้องเรียนและเห็นได้ชัดเจนว่าทำผิดมาตรฐานชุมชน
  2. การกำกับดูแลแบบตอบสนองจริงๆ (really really responsive regulation) คือผู้ดูแลเว็บไซต์ตอบสนองทันทีหลังมีการร้องเรียน
  3. การกำกับดูแลโดยผู้ใช้ที่เป็นมวลชน (mass user self-regulation) ผู้ใช้สอดส่องเฝ้าระวังกันเอง (self-policing) เช่นการรายงานการละเมิด (report) การยกธง (flag)
  4. การกำกับดูแลที่อยู่บนฐานของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ (self-regulation under national and international law)
  5. การกำกับดูแลผ่านการกำหนดภาระรับผิดชอบของตัวกลาง (liability of online content intermediaries) ซึ่งมีทั้งแนวทางที่เน้นให้ตัวกลางมีภาระรับผิดอย่างชัดเจน และแนวทางที่จำกัดภาระความรับผิดของตัวกลางหรือช่วยคุ้มครองตัวกลางทางเนื้อหา

โดยกรอบกฎหมายที่ใช้พิจารณาจะมี 3 กลุ่มสำคัญคือ กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลหรือข้อมูลส่วนบุคคล

คณะผู้วิจัยเสนอว่าการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ จำเป็นต้องดูลักษณะของการสื่อสารที่มีวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย และระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป และเนื้อหาบางประเภทอาจไม่จำเป็นต้องกำกับดูแล นอกจากนี้ต้องใช้รูปแบบผสมผสาน เช่น หากเป็นการใช้เฮตสปีชที่โน้มน้าวให้เกลียดชังบุคคลหรือกลุ่มบุคคล แนวทางกำกับดูแลที่น่าจะมีประสิทธิภาพคือการกำกับดูแลผ่านตัวกลาง แต่หากเป็นการใช้เฮตสปีชที่โน้มน้าวหรือยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงต่อเป้าหมาย ก็ควรใช้การกำกับดูแลทางกฎหมาย

อะไรคือเฮตสปีชสำหรับสังคมไทย?

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความคิดเห็นต่องานวิจัยว่า จุดเด่นของงานนี้คือการศึกษา “สปีช” (speech) หรือการสื่อสาร ที่ผ่านมาการศึกษาทางสังคมวิทยามักศึกษาที่ตัวสถาบัน ในปัจจุบันสังคมวิทยายุคใหม่สนใจศึกษาตัวการสื่อสาร เป็นการศึกษาที่ปฏิบัติการและปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่างๆ ในสังคม ว่าทำงานอย่างไร อย่างไรก็ดีสิ่งที่ขาดหายไปจากงานนี้คือ แง่มุมทางกฎหมายและทางระบบยุติธรรม อินเทอร์เน็ตในไทยมีมานานแล้ว รวมทั้งมีกฎหมายรวมทั้งคำตัดสินที่เกี่ยวข้องออกมาให้เห็นกันแล้ว ทั้งข้อต้องห้ามที่สุดคือมาตรา 112 หรือการที่ศาลพิจารณาในคดีหมิ่นประมาทบางคดีว่าเป็นการติชมโดยสุจริตหรือสร้างบรรทัดฐานเรื่องบุคคลสาธารณะ ซึ่งควรพิจารณาร่วมด้วย

นอกจากนี้พิชญ์ตั้งคำถามว่าตกลงแล้ว ในสังคมไทย อะไรเป็นแก่นแกนของเฮตสปีช ในสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องการแบ่งแยกสีผิว ในยุโรปเป็นเรื่องความเป็นมนุษย์ เขาตั้งข้อสังเกตว่าในประเทศไทยเป็นเรื่อง “ความเป็นไทย” หรือไม่ และฐานของเฮตสปีชในสังคมไทยในงานนี้มาจากอคติเรื่องการเป็นต่างจังหวัด เมือง-ชนบท หรือไม่ ขณะเดียวกันเขาสงสัยว่าสังคมไทยมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อพิจารณาว่าลักษณะใดเป็นความเกลียดชังหรือไม่ เช่น ในสหรัฐอเมริกาใช้รัฐธรรมนูญเป็นกรอบในการพิจารณา สังคมไทยใช้อะไร โดยกล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงอย่างไรก็ตาม น่าดีใจมากว่างานชิ้นนี้ไม่เหมือนกับงานศึกษาทั่วไปของไทยที่มักขึ้นต้นด้วยการอ้างรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ทั้งที่ก็รู้ว่าในทางปฏิบัติรัฐธรรมนูญไม่ใช่ข้อตกลงร่วมกันในสังคมไทย

ทางด้านปรเมศวร์ มินศิริ ผู้บริหารเว็บไซต์กระปุกดอตคอม ชวนผู้ร่วมเสวนาตั้งคำถามว่า เฮตสปีชนั้นเกี่ยวกับเวลาด้วยหรือไม่ เมื่อก่อนนี้การเรียกคนจีนในไทยว่า “เจ๊ก” ถือเป็นการเหยียด แต่ความรู้สึกเหยียดแบบเดียวกันนั้น ในปัจจุบันอาจจะไม่มีแล้ว

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

Exit mobile version