2013.03.27 16:35
ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) คืออะไร? และเกี่ยวข้องอะไรกับผู้ใช้เน็ต?
อะไรคือ TPP ?
TPP หรือ Trans-Pacific Partnership เป็นความตกลงการค้าระหว่างประเทศ มีเนื้อหาครอบคลุมการค้าหลายสาขา และมีบทสำคัญที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร (และอาจรวมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วย) ประเทศที่เข้าร่วมจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้เข้ากับ TPP
ปัญหาใหญ่ของ TPP มีสองประการ
(1) IP Chapter หรือบทที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา : ตัวบทจากเอกสารร่างความตกลงที่หลุดออกมา แสดงให้เห็นว่า IP Chapter (Intellectual Property Chapter) จะส่งผลกระทบในทางลบต่อสิทธิพลเมือง/สิทธิผู้บริโภค ทั้งในด้านเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นส่วนตัว/ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และจำกัดความสามารถของประชาชนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่
(2) ไม่มีความโปร่งใส : กระบวนการทั้งหมดในการร่าง ไม่เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วม และทั้งหมดทำอย่างเป็นความลับ — และที่แย่กว่านั้นในกรณีของประเทศไทยก็คือ เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศริเริ่ม จึงไม่มีสิทธิเจรจาต่อรองใดๆ ประเทศไทยเลือกได้แค่ว่า จะเข้าร่วม TPP หรือไม่เท่านั้น แก้ไขเงื่อนไขสนธิสัญญาใดๆ ไม่ได้เลย
นอกจากนี้ในส่วนของ Investment Chapter หรือบทว่าด้วยการลงทุน ยังมีข้อกำหนดที่ปกป้องบรรษัทเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และจำกัดสิทธิของรัฐในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ในกรณีมีข้อพิพาทกับบรรษัทดังกล่าว
TPP จะกระทบต่อสิทธิผู้บริโภคอย่างไร ?
เนื้อหาใน IP Chapter จำนวนหนึ่ง นำมาจากมาตรการการจำกัดสิทธิใน Digital Millennium Copyright Act (DMCA) ของสหรัฐอเมริกา แต่ใน IP Chapter ไม่ได้นำมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคใน DMCA มาด้วย
ตัวอย่างเช่น ใน DMCA นั้นกล่าวถึงการใช้มาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อการจัดการสิทธิดิจิทัล (digital rights management: DRM) และระบุว่าการหลบเลี่ยง DRM มีความผิด แต่ก็มีกำหนดว่า หากเทคโนโลยี DRM ดังกล่าวละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค ผู้บริโภคสามารถนำ DRM ออกได้ โดยไม่มีความผิด — ข้อยกเว้นความผิดที่คุ้มครองผู้บริโภคลักษณะนี้ไม่ปรากฏอยู่ใน TPP
การยอมรับ TPP จะทำให้การแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศเพื่อเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคทำได้อย่างจำกัด
ในกรณีที่การคุ้มครองผู้บริโภคของกฎหมายในประเทศมีสูงกว่า TPP จะบังคับให้มีการแก้ไขกฎหมายในประเทศให้ลดการคุ้มครองลง ให้เท่ากับระดับใน TPP
ตัวอย่างเช่น ชิลีจำเป็นจะต้องแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ของตัวเองที่ออกในปี 2010 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญนานาชาติว่า เป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีความก้าวหน้าและมองไปในอนาคต โดยได้วางแนวกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องและกำหนดข้อยกเว้นความรับผิดไว้อย่างชัดเจนและได้สัดส่วน การจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ดังกล่าว หมายถึงชิลีจะมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่แย่ลง และผู้บริโภคก็จะได้ความคุ้มครองน้อยลงด้วย
ประเทศไทยกำลังมีการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ให้เพิ่มเรื่อง DRM โดยร่างปัจจุบันไม่มีข้อยกเว้นความรับผิดที่จะคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
ทำไม TPP ถึงกระทบต่อผู้ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลทุกคน ?
TPP กำหนดให้การทำ “สำเนาชั่วคราว” (temporary copies) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ธรรมชาติของการประมวลผลในคอมพิวเตอร์ ธรรมชาติของสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยอินเทอร์เน็ต จำเป็นต้องมีการทำสำเนาชั่วคราวอยู่ตลอด การกำหนดให้การทำสำเนาชั่วคราวเป็นการะละเมิดลิขสิทธิ์ ในทางปฏิบัติจะทำให้ผู้ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลทั้งหมดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย
เรื่องสำเนาชั่วคราวนี้เคยถูกเสนอมาแล้วในที่ประชุมองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เมื่อปี 1996 ซึ่งที่ประชุมเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอนี้
TPP เกี่ยวอะไรกับคนใช้เน็ต ?
TPP ระบุถึงการกำหนดผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต มีภาระต้องตรวจว่าผู้ใช้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่
การบังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องมีหน้าที่ตรวจข้อมูลของผู้ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่นด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ที่จะ “แกะซองจดหมาย” เพื่ออ่านข้อมูลทุกอย่างที่ผู้ใช้รับส่งในเน็ต เพื่อดูว่ามีเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่ เป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว และละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 36 ที่ว่า
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย
การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้ง การกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
เหตุผลที่การตรวจตาม TPP เข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก
1) ในทางปฏิบัติ จะเป็นการตรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนเป็นการทั่วไป โดยไม่มีหลักฐานหรือเหตุให้สงสัยที่เพียงพอว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเหล่านั้นสื่อสารถึงกันโดยทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย
2) แม้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของรัฐที่จะใช้เป็นข้ออ้างได้
TPP จะกระทบการเข้าถึงความรู้แค่ไหน ?
TPP จะการขยายเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้นานขึ้น จาก 50 ปีหลังความตายของผู้สร้างสรรค์ เป็น 70 ปีหลังความตาย และในกรณีงานสร้างสรรค์โดยนิติบุคคล จะขยายเป็น 120 ปี
การขยายเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้นานขึ้น แปลว่าเราต้องรอนานขึ้นกว่าที่งานนั้นจะตกเป็นสมบัติสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงได้
จากประวัติการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ TPP อิงอยู่ จะพบการขยายอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พูดอีกอย่างคือ TPP คือความพยายามที่จะบังคับการขยายอายุลิขสิทธิ์ในแบบสหรัฐอเมริกา ให้ขยายไปในประเทศอื่นๆ ด้วย
TPP อาจกระทบกระทั่งการแต่งกาย ?
การแสดงออกทางวัฒนธรรมจำนวนมากในสังคมปัจจุบัน อยู่บนฐานของสินค้าวัฒนธรรมที่มีลิขสิทธิ์ ผู้เขียนการ์ตูน “Love Hina” แสดงความเป็นห่วงว่า TPP จะทำให้วัฒนธรรม “โดจินชิ” หายไป โดจินชิคือการ์ตูนหรือนิยายที่ผู้แต่งเขียนและเผยแพร่เอง โดยหยิบยืมตัวละครหรือโครงเรื่องมาจากงานที่ตนชื่นชอบ และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า โดจินชิมีส่วนสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมและอุตสาหกรรมการ์ตูนญี่ปุ่นเข้มแข็ง
ยังมีความเป็นห่วงด้วยว่า การตีความที่กว้างขวางและการคุ้มครองผู้ถึอครองลิขสิทธิ์อย่างเข้มข้น จะกระทบต่อการแสดงออกในเชิงล้อเลียน หรือกระทั่งการแต่งตัวเลียนแบบตัวละครอย่างการแต่ง “คอสเพลย์”
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ TPP จะจำกัดสิทธิในการแสดงออกของเรายิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูด แสดงท่าทาง หรือกระทั่งการแต่งกาย
ติดตามข่าวสาร TPP และร่วมยืนยันสิทธิของเราเอง
บทวิเคราะห์ TPP โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์และสิทธิพลเมือง โดย Electronic Frontier Foundation (EFF) (ภาษาอังกฤษ)
https://www.eff.org/issues/tpp
ข่าวสาร/กิจกรรมจาก กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) (ภาษาไทย)
https://www.facebook.com/ftawatch
บทความแนะนำที่มา พัฒนาการ และประเด็นถกเถียงของ TPP ในวิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/Trans-Pacific_Strategic_Economic_Partnership
รูปประกอบจาก https://www.eff.org/deeplinks/2012/08/whats-wrong-tpp
Tags: copyright, free trade agreements, intellectual property, TPP, Trans-Pacific Partnership