ศาลอาญา รัชดา ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (prachatai.com) เป็นจำเลย ในคดีความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยจีรนุชถูกกล่าวหาว่า มีเจตนาจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดประชาไท
การอ่านคำพิพากษาจะมีขึ้นในวันที่ 30 เม.ย.55 เวลา 10.00 น. บัลลังก์ 910 ณ ศาลอาญา รัชดา
ความสำคัญของคดี Internet กับภาระรับผิดของตัวกลาง :
จีรนุช มีฐานะเป็น “ตัวกลาง” ซึ่งเปรียบเสมือนท่อหรือช่องทางผ่านของเนื้อหาเท่านั้น (mere conduit) ตัวอย่างของตัวกลาง เช่น ศูนย์ข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บบอร์ด บล็อก ตัวกลางเหล่านี้เปรียบเสมือนสวนสาธารณะที่อำนวยพื้นที่ให้ผู้คนมาทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ และในบางครั้งเอาจป็นกิจกรรมที่ละเมิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลสวนสาธารณะมิอาจรู้ล่วงหน้าได้ว่า จะเกิดกิจกรรมใดๆ ขึ้นบ้าง และคงมีผู้คนจำนวนมากมายมาทำกิจกรรมในพื้นที่นั้น จนผู้ดูแลสวนสาธารณะมิอาจดูแลได้ทั่วถึง
การระวางโทษกับตัวกลาง ก็เปรียบเหมือน การระวางโทษกับผู้ดูแลสวนสาธารณะ หากผู้ดูแลสวนสาธารณะรู้ว่าตนอาจต้องรับโทษหนัก ด้วยการกระทำของผู้อื่น (ผู้ที่มาใช้สวนสาธารณะ) ผู้ดูแลสวนก็จะมีแนวโน้มที่จะปิดสวนสาธารณะนั้นเสีย เพื่อตนจะได้ไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ อีก หรือคัดกรองคนก่อนเข้ามาใช้พื้นที่ ด้วยการขอดูบัตรประชาชน เก็บข้อมูลชื่อและหมายเลขบัตรประชาชน และก่อนจะทำกิจกรรมใดๆ ได้นั้นต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเสียก่อน (เปรียบเหมือนคอนเมนต์บนเว็บบอร์ด ที่ต้องมีการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้เผยแพร่ได้) อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้ก็ต้องอาศัยทรัพยากร เวลา และบุคลากรสูง ในระดับที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นผลการตัดสินคดี จีรนุช เปรมชัยพร จะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐาน ของการกำกับดูแล และการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ย่อมจะส่งผลต่อตัวกลาง การประกอบการด้านอินเทอร์เน็ตในไทย สังคมผู้ใช้เน็ตไทยและสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกของประเทศไทย อย่างมีนัยยะสำคัญ
อ่านเพิ่มเติม:
อย่าโทษคนนำสาร: ภาระรับผิดทางกฎหมายของสื่อตัวกลางและการคุ้มครองหลักการของอินเทอร์เน็ต โดย ซินเธีย หว่อง (Cynthia Wong)
ข้อบกพร่องของ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15:
พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ความว่า ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตามมาตรา 14
คดีของจีรนุชชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ
-
1. ภาระของ “ท่อ” มาตรา 15 ปฏิบัติกับผู้ให้บริการ หรือ “ตัวกลาง” (intermediary: เช่น ศูนย์ข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บบอร์ด บล็อก) เสมือนหนึ่งเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ผู้มีทั้งหน้าที่และความสามารถในการคัดกรองเนื้อหาทั้งหมดก่อนตีพิมพ์ แต่คุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์เช่นทุกวันนี้คือ ข้อมูลทุกอย่างไหลผ่านอย่างรวดเร็ว ตัวกลางจึงเป็นเพียง “ท่อข้อมูล” หรือช่องทางผ่านของเนื้อหาเท่านั้น (mere conduit) หากผู้บังคับใช้กฎหมายไทยจะถือว่าตัวกลางต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลและเนื้อหาทั้งหมดที่ผ่านตัวกลางแล้ว นั่นย่อมหมายความว่า ตัวกลางจะต้องกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมดก่อนการเผยแพร่ ซึ่งด้วยความเร็วและปริมาณข้อมูลจำนวนมาก สิ่งดังกล่าวยากที่จะทำให้เป็นไปได้ โดยไม่กระทบกับการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
-
2. ตัวกลางกลายเป็น “แพะ” ในการดำเนินคดีกับ “ตัวกลาง” ดังเช่นในคดีของจีรนุชทั้งสองคดีนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้โพสต์ข้อความเพียงรายเดียวที่ถูกดำเนินคดี และศาลชั้นต้นได้มีคำตัดสินไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2554 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าฝ่ายโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยคือผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง ซึ่งในกระบวนการสอบสวนเกี่ยวกับผู้โพสต์รายนี้นั้น เว็บไซต์ประชาไทได้ให้ความร่วมมือตามที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง ดังนั้นที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรพยายามเอาผิดกับตัวกลาง ทั้งที่ได้รับความร่วมมือจากตัวกลางซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบอินเทอร์เน็ตแล้วแต่ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดตัวจริงได้
ในประเทศที่กฎหมายเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะมีการกำหนดข้อยกเว้นความรับผิด (safe harbour) โดยถือว่าตัวกลางเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าหากไม่สามารถพิสูจน์เจตนาการกระทำความผิดได้ เนื่องจากตัวกลางคือพื้นที่ที่โดยปกติไม่มีส่วนรู้เห็น หลักการนี้จึงมีไว้เพื่อคุ้มครองตัวกลางจากภาระทางกฎหมายที่ไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ไม่ได้ให้เสรีภาพแก่ตัวกลางจนเกินขอบเขต เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งตัวกลางเมื่อพบเนื้อหาที่เป็นความผิด และขออำนาจศาลเพื่อสั่งให้มีการลบเนื้อหานั้นได้ ทั้งนี้ต้องเป็นไปในระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด (notice and take down procedures) เป็นต้น และที่สำคัญอยู่บนหลักการซึ่งถือว่าตัวกลางนั้นบริสุทธิ์โดยพื้นฐาน (by default)
คดีของจีรนุช และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ในฐานะที่เป็นนักปกป้องสื่ออินเทอร์เน็ตจึงเป็นที่สนใจของแวดวงสิทธิเสรีภาพสื่อออนไลน์ทั่วโลก เพราะเป็นคดีที่ไม่ได้กระทบต่อการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นบรรทัดฐานของสิทธิเสรีภาพสื่ออินเทอร์เน็ตในระดับสากลอีกด้วย องค์กรที่มีจุดยืนเพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิมนุษยชน จึงได้ออกแถลงการณ์ แสดงความกังวล ต่อคดีของจีรนุชจำนวนมาก เช่น
-
[Electronic Frontier Foundation: EFF] Thailand Awaits Pivotal Verdict on Liability for Internet Intermediaries
-
[Human Rights Watch] Thailand: Internet Provider Faces Lese Majeste Conviction
-
[Frontline Defenders] Thailand –UPDATE: Verdict on the case of human rights defender Ms Chiranuch Premchaiporn to be delivered on 30 April 2012
-
[The International Federation for Human Rights: FIDH] Situation of Human Rights Defenders
ภูมิหลังของคดี
-
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท
-
ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ: มาตรา 15
-
ข้อหาอื่นๆ: ไม่มี
-
ผู้ฟ้อง: กองปราบปราม
รายละเอียด:
วันที่ 6 มีนาคม 2552 เวลาประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม น.ส.จีรนุช ที่สำนักงานประชาไท โดยแสดงหมายค้นก่อนแสดงหมายจับในเวลาต่อมา จีรนุชถูกแจ้งข้อกล่าวว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 เนื่องจากมีข้อความในกระทู้หนึ่งบนกระดานสนทนาโพสต์โดยสมาชิกเว็บบอร์ดวันที่ 15 ตุลาคม 2551 จีรนุชปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดคอมพิวเตอร์ของ จีรนุชและทำสำเนาข้อมูลเพื่อใช้ในการพิสูจน์หลักฐาน โดยทำสำเนาเก็บไว้ทั้งสองฝ่ายเพื่อป้องกันการแก้ไขข้อมูล
6 มี.ค. 52 เวลาประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม น.ส.จีรนุช ที่สำนักงานประชาไท
7 เม.ย. 52 เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 9 ข้อ จาก 9 กระทู้ในกระดานสนทนาระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม 2551
1 มิ.ย. 52 เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งสำนวนคดีให้อัยการยื่นฟ้อง ด้านน.ส.จีรนุช ยื่นประกันตัวต่อเนื่องในชั้นอัยการ ระหว่างนั้นน.ส.จีรนุช ต้องรายงานตัวต่อสำนักงานอัยการอย่างต่อเนื่องทุก 30 วันในระยะแรก และ 60 วันในระยะหลัง
31 มี.ค. 53 อัยการยื่นฟ้อง น.ส.จีรนุชเพิ่มอีก 1 ข้อกล่าวหา รวมทั้งสิ้น 10 ข้อหา ด้าน จีรนุช ถูกคุมตัวที่ศาลอาญา ต่อมาได้รับการประกันตัวในชั้นศาล
31 พ.ค. 53 ศาลนัดพร้อม สอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน กำหนดวันนัดสืบพยาน
8 พ.ย. 53 ศาลนัดตรวจสอบพยานหลักฐานเป็นครั้งสุดท้าย
4 -11 ก.พ. 54 ศาลสืบพยานฝ่ายโจทก์ 5 ปาก
20 -21 ก.ย.และ 11-14 ต.ค. 54 ศาลสืบพยานจำเลย 4 ปาก
11 ต.ค. 54 ศาลเลื่อนการสืบพยานจำเลยที่เหลืออยู่ 3 ปาก จากวันที่ 11, 12 และ 14 ต.ค. 54 เปลี่ยนเป็น 14 – 16 ก.พ. 55 เนื่องจากบ้านผู้พิพากษาน้ำท่วม
14 – 16 ก.พ. 55 สอบพยานปากที่เหลือ ผู้พิพากษานัดฟังคำพิพากษา 30 เม.ย. 55