เครือข่ายพลเมืองเน็ต: กดไลก์ ไม่ใช่อาชญากรรม กระทรวงไอซีทีต้องทบทวนมาตรการจัดการ “เฟซบุ๊กหมิ่น” และ ข้อแนะนำต่อพลเมืองเน็ตเมื่อเจอหน้าเว็บที่ไม่ถูกใจ

2011.11.30 15:38

จากกรณี น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ว่าการกดถูกใจ (Like) หรือแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก ถือเป็นการเผยแพร่เนื้อหาทางอ้อม อาจต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้เขียน และกล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงกำลัง “ขอความร่วมมือ” ไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบ เพื่อปิด “เพจหมิ่น” “วิดีโอหมิ่น” และสืบหาตัวผู้เขียนเนื้อหา

นอกจากนี้ ต่อมาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 น.ส. มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้เสนอให้ปิดเฟซบุ๊กและยูทูบทั้งเว็บไซต์ หากกระทรวงไอซีทีไม่สามารถจัดการไม่ให้มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์ในเว็บไซต์ดังกล่าวได้

ท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้เน็ตหลายประการ ดังนี้

1. กดไลก์ ไม่ใช่อาชญากรรม

1.1 รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิของประชาชนในการแสดงออกถึงความคิดความรู้สึก

ข้อความที่อาจ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาจถูกตัดสินโดยศาลว่าผิดตามมาตรา 112 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา แต่การแสดงออกถึงความรู้สึกต่อข้อความดังกล่าว ไม่ผิดกฎหมายใดๆ พลเมืองไทยมีสิทธิที่จะแสดงออกถึงการชอบ ไม่ชอบ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ทุกประการ

1.2 อินเทอร์เน็ตคือการลิงก์ รัฐต้องไม่เอาผิดการแบ่งปันลิงก์

ในประเทศที่กฎหมายปกป้องสิทธิพลเมือง เช่น แคนาดา ศาลได้พิพากษาว่า การแบ่งปันลิงก์ไม่นับเป็นการสร้างหรือเผยแพร่เนื้อหา และไม่ต้องถูกระวางโทษ เพราะเนื้อหาในลิงก์อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอโดยผู้แบ่งปันไม่สามารถควบคุมได้ ผู้แบ่งปันลิงก์จึงได้รับการปกป้องออกจากความรับผิด

ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายตีความว่าการแบ่งปันลิงก์คือการเผยแพร่ข้อมูล และต้องรับผิด ซึ่งสมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

การทำลิงก์ ส่งลิงก์ และเผยแพร่ลิงก์ เป็นหัวใจสำคัญของอินเทอร์เน็ต การเชื่อมโยงในเครือข่ายจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีลิงก์ การทำให้การแบ่งปันลิงก์เป็นอาชญากรรม จึงเป็นการขัดขวางหลักการพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต และกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

1.3 เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ผู้ใช้ไม่สามารถล่วงรู้และควบคุมการใช้งานได้ทั้งหมด

เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก มีซอฟต์แวร์ที่ทำการคัดเลือกเนื้อหาและลิงก์ เพื่อแสดงในหน้าเว็บกลาง (วอลล์: wall) และหน้าส่วนตัว (โพรไฟล์: profile) โดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอนุมัติหรือรับรู้ อีกทั้งการคัดเลือกดังกล่าวพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งผู้ใช้ไม่สามารถควบคุมวิธีได้ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กจะทราบดีว่า ซอฟต์แวร์ของเฟซบุ๊กนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

การระวางโทษกับการกดถูกใจ แสดงความเห็น หรือการกระทำอื่นใด ซึ่งผู้ใช้ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะทำให้เกิดการเผยแพร่ต่อหรือไม่ จึงขัดกับธรรมชาติของระบบ ทำให้ผู้ใช้ตกอยู่ในความกลัว และไม่สามารถใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างปกติ

2. รัฐไทยควรจัดการอย่างไร เมื่อเจอหน้าเฟซบุ๊กหรือคลิปวิดีโอ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

2.1 ตระหนักถึงราคาที่สาธารณะต้องจ่ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับความพยายามที่ไม่สามารถสำเร็จได้

ไม่มีการปิดกั้นแบบใดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า แม้รัฐบาลไทยจะลงทุนระดับ The Great Firewall ของประเทศจีน ซึ่งเริ่มต้นด้วยงบประมาณราว 24,000 ล้านบาท ก็ไม่สามารถปิดกั้นให้เนื้อหาใด ๆ ให้หายไปจากอินเทอร์เน็ตได้ ในขณะเดียวกัน การกีดขวางการจราจรอินเทอร์เน็ต ยังกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมอีกด้วย

2.2 ต้องใช้วิธีตามกฎหมาย หยุดการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการจากผู้ให้บริการ

วัฒนธรรมการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการ ส่งผลเสียในทางปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากหลักฐานการขอความร่วมมือและข้อมูลที่ได้ จะไม่ถูกจัดเก็บในสารบบของราชการ ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ เช่น สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบการทำงาน ทำให้การพิทักษ์สิทธิของประชาชนเป็นไปได้ยาก และเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล

2.3 หากรัฐยืนยันว่าจำเป็นต้องปิดเว็บไซต์หรือข้อความที่ “ไม่เหมาะสม” การกระทำดังกล่าวควรเป็นไปโดยไม่สร้างภาระความรับผิดที่เกินสมควรให้กับตัวกลางหรือผู้ให้บริการ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตขอเสนอข้อปฏิบัติในภาพรวมดังนี้

  • แยกชนิดผู้ให้บริการและผู้ดูแล ออกเป็นส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาและไม่เกี่ยวกับเนื้อหา
  • กำหนดให้ผู้ให้บริการและผู้ดูแลที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา (“ท่อข้อมูล”) ไม่ต้องมีความรับผิด
  • กำหนดระดับชั้นของผู้ให้บริการและผู้ดูแลที่เกี่ยวกับเนื้อหา ตามความใกล้กับเนื้อหา
  • จำกัดขนาดของผลกระทบต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องให้เล็กที่สุด ในการส่งหนังสือเพื่อให้ระงับการเข้าถึงเนื้อหาชั่วคราว ควรแจ้งไปที่ผู้ให้บริการหรือผู้ดูแล ในระดับที่ใกล้กับเนื้อหาที่สุด ก่อนจะไล่ไปสู่ผู้ให้บริการหรือผู้ดูแลระดับที่ห่างออกไป เนื่องจากผู้ให้บริการหรือผู้ดูแลระดับที่ใกล้เนื้อหาที่สุดจะมีความสามารถในการจัดการเนื้อหาได้ง่ายกว่า และผลจากการกระทำมีโอกาสน้อยกว่าที่จะกระทบผู้ใช้บริการรายอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง
  • ต้องถือว่าการระงับการเข้าถึงเป็นมาตรการบรรเทาความเสียหาย ในลักษณะการคุ้มครองชั่วคราว คำสั่งปิดกั้นจะมีได้ต่อเมื่อมีการแจ้งความหรือฟ้องคดี ระยะเวลาการปิดกั้นต้องมีวันสิ้นสุด (สามารถขยายได้ อย่างมีขอบเขต)
  • ในการระงับการเข้าถึงเนื้อหา ผู้ให้บริการต้องแสดงหมายเลขคำสั่งที่ชัดเจนบนหน้าเว็บ เพื่อให้สาธารณะตรวจสอบได้
  • การปิดกั้นต้องสิ้นสุดทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ส่งฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง หรือคดีสิ้นสุดโดยศาลพิพากษาว่าเนื้อหาไม่ผิดกฎหมาย หลังจากนั้นรายละเอียดของคำสั่งทั้งหมดต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ

3. พลเมืองเน็ตควรจัดการอย่างไร เมื่อเจอหน้าเฟซบุ๊กหรือคลิปวิดีโอ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

3.1 พิจารณาว่า เนื้อหาดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างแท้จริงหรือไม่

ควรไตร่ตรองว่าเนื้อหาดังกล่าวเข้าตามเกณฑ์ในดังต่อไปนี้
ก) การวิพากษ์วิจารณ์ (criticism)
ข) การแสดงความดูหมิ่น เกลียดชัง ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ลดค่าความเป็นมนุษย์ (hate speech)
ค) การยุยงให้ใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกาย (fighting speech)
ง) ข้อมูลส่วนบุคคลที่เมื่อเปิดเผยแล้วอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลดังกล่าว (sensitive personal data)

ข้อความในข้อ (ค) และ (ง) เท่านั้น ที่อาจจะสามารถทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ และจำเป็นต้องจัดการอย่างทันท่วงที ส่วนข้อความในข้อ (ข) แม้เป็นการละเมิดสิทธิเช่นกัน แต่ก็มีวิธีอื่นในการจัดการได้ โดยไม่จำเป็นต้องระงับการเข้าถึง

พลเมืองเน็ตควรตระหนักว่า อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สำหรับความรู้และความคิดเห็นอันหลากหลาย อินเทอร์เน็ตมีทุกสิ่งที่ใครคนหนึ่งเกลียด การปิดสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งทนไม่ได้ จะนำไปสู่การปิดทุกอย่างในอินเทอร์เน็ต วิธีที่เหมาะสมกับความเป็นจริงที่สุด เมื่อเจอสิ่งที่คุณไม่ชอบในเน็ต คือ อดทนกับมัน

3.2 รายงานเนื้อหาที่เห็นว่าไม่เหมาะสม ไปยังผู้ให้บริการ ด้วยเหตุผลที่ชัดเจน

เครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ รวมถึงเฟซบุ๊กและยูทูบ ใช้แนวคิด “notice and takedown” ซึ่งหมายถึง การเปิดให้สร้างเนื้อหาอย่างเสรี แต่หากมีรายงานการละเมิดสิทธิ ผู้ให้บริการก็จะพิจารณาลบเนื้อหาดังกล่าว

การรายงานการละเมิดจึงควรเป็นไปด้วยความรับผิดชอบ รายงานให้ตรงหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด และไม่พยายามปั่นระบบรายงาน เพื่อลดภาระแก่ผู้ให้บริการและไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

หากท่านต้องการรายงานว่าหน้าเฟซบุ๊กใด “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เนื่องจากเฟซบุ๊กไม่มีเหตุผลดังกล่าวให้เลือก ขอแนะนำให้เลือกเหตุผลที่ใกล้เคียงที่สุดคือ “มันก่อกวนเพื่อนของฉัน: It harrasses my friend” คือเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ตัวผู้รายงาน

การระดมคนเพื่อรายงานซ้ำๆ อาจทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถตอบสนองต่อรายงานกรณีอื่น ๆ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตของผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที (เทียบได้กับกรณีคนโทรไปป่วน 191)

อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางสังคมที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการ และพลเมืองเน็ตจะต้องมีบทบาทร่วมกันในการรักษาพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานของการรักษาสิทธิพลเมืองและปกป้องสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายพลเมืองเน็ต
30 พฤศจิกายน 2554
contact@thainetizen.org


ภาคผนวก

นโยบายการรายงานการละเมิดของเฟซบุ๊กมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกปลอดภัย โดยจะดำเนินการกับกรณีการคุกคามความเป็นส่วนตัว ความรุนแรง และถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) ซึ่งครอบคลุมการแบ่งแยกบุคคลตาม ชาติพันธุ์ เพศสภาพ ความพิการ และศาสนา

บางส่วนจากมาตรฐานชุมชนของเฟซบุ๊ก

คัดลอกจาก https://www.facebook.com/communitystandards

เราประสงค์ให้สมาชิกของเรารู้สึกถึงความปลอดภัยเมื่ออยู่ในไซต์ การคุกคามที่เชื่อได้ว่าเป็นอันตรายต่อผู้อื่นจะถูกลบ เราอาจต้องถอดการสนับสนุนสำหรับองค์กรที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนั้นออกด้วยเช่นกัน

ในฐานะที่เป็นชุมชน เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับรายงานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดอย่างจริงจัง เราดำเนินการเมื่อมีการคุกคามความเป็นส่วนตัวของบุคคล หรือบุคคลนั้นได้รับการติดต่อโดยไม่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเราสนับสนุนให้คุณสร้างความสัมพันธ์อันดีใหม่ๆ โปรดพึงระลึกว่าการติดต่อบุคคลแปลกหน้า หรือบุคคลที่คุณไม่เคยพบหน้ามาก่อนอาจถือได้ว่าเป็นการล่วงละเมิดอย่างหนึ่ง

Facebook ไม่อนุญาตให้ใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง โปรดเคารพซึ่งกันและกันเมื่อคุณติดต่อสื่อสารผ่าน Facebook แม้ว่าเราสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น, สถาบัน องค์กร, กิจกรรม และการฝึกปฏิบัติต่างๆ แต่การแบ่งแยกบุคคลตามเชื้อชาติ, เผ่าพันธุ์, ถิ่นที่ถือสัญชาติ, ศาสนา, เพศ, เพศสภาพ, รสนิยมทางเพศ, ความทุพพลภาพ หรือโรคภัย ถือเป็นการละเมิดเงื่อนไขของเราอย่างร้ายแรง

เนื่องจากชุมชนของเรามีความหลากหลาย อาจมีบางอย่างที่คุณไม่เห็นด้วยหรือเป็นการรบกวนคุณ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะลบหรือบล็อคได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีการควบคุมส่วนบุคคลในสิ่งที่คุณเห็น เช่น คุณสามารถซ่อน หรือตัดการเชื่อมต่อโดยไม่เปิดเผยกับบุคคล เพจ หรือแอพพลิเคชั่นที่เป็นเหตุให้คุณไม่พึงพอใจได้


Tags: , , , , , , , ,
%d bloggers like this: