Thai Netizen Network

ฮิวแมนไรท์สยูเอสเอ: พลเมืองสหรัฐฟ้องบริษัทเว็บโฮสติ้ง ฐานส่งข้อมูลบุคคลของเขาให้รัฐบาลไทย

องค์กรสิทธิมนุษยชนสหรัฐฯ รายงานกรณีพลเมืองสหรัฐถูกทางการไทยจับกุมและสอบสวน ทั้งในประเทศไทยและในสหรัฐอเมริกา เหตุเกี่ยวพันกับเว็บไซต์ Manusaya.com ที่ทางการไทยกล่าวหาว่ามีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

….

พลเมืองสหรัฐฟ้องบริษัทเว็บโฮสติ้ง ฐานส่งข้อมูลบุคคลของเขาไปให้รัฐบาลไทย

พลเมืองสหรัฐอเมริกาฟ้องเน็ตเฟิร์มส (Netfirms) บริษัทผู้ให้บริการพื้นที่เว็บสัญชาติแคนาดาซึ่งมีกิจการอยู่ในสหรัฐฯ ฐานส่งข้อมูลส่วนตัวของเขาให้กับรัฐบาลไทย คดีดังกล่าวยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 การเปิดเผยข้อมูลโดยเน็ตเฟิร์มสทำให้เจ้าหน้าที่ไทยสามารถชี้ตัว กักขัง และสอบสวนโจทก์ คือนายแอนโทนี ชัย (Anthony Chai) ทั้งในประเทศไทยและในสหรัฐอเมริกา การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลไทยตั้งข้อกล่าวหาว่านายชัยละเมิดกฎหมายไทย จากข้อความที่เขาโพสต์ออนไลน์ โดยข้อความที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายของไทยที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

คดีดังกล่าวถูกยื่นต่อต่อศาลแขวงประจำแคลิฟอร์เนียกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นของระบบศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ โดยยองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์สยูเอสเอ (World Organization for Human Rights USA) และ สำนักกฎหมายสเนลล์และวิลเมอร์ (Law Office of Snell & Wilmer) โดยกล่าวหาว่าการกระทำของบริษัทเน็ตเฟิร์มสดังกล่าว ผิดกฎหมายแคลิฟอร์เนีย รวมถึงผิดรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ “คดีนี้อยู่ในพื้นที่ที่ตัดกันระหว่างการรับประกันความเป็นส่วนตัว, เสรีภาพในการแสดงออก, กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, และอินเทอร์เน็ต” เอ็ม.ซี. ซันกาอิลา ทนายของเสนลล์และวิลเมอร์กล่าว

จากข้อมูลในคำร้องต่อศาล นายชัยเป็นเจ้าของร้านคอมพิวเตอร์ในลองบีช แคลิฟอร์เนีย ที่ซึ่งตัวเขาและลูกค้าได้เข้าถึงและส่งความคิดเห็นโดยไม่เปิดเผยตัวตนลงในเว็บไซต์ภาษาไทยที่สนับสนุนประชาธิปไตย ชื่อ Manusaya.com ซึ่งใช้บริการพื้นที่เว็บของบริษัทเน็ตเฟิร์มส ความคิดเห็นซึ่งไม่แสดงตัวตนจำนวนมากได้แสดงความกังวลต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศไทย ซึ่งห้ามการแสดงออกในทางลบใด ๆ ต่อสถาบันกษัตริย์ของไทย และมีบทลงโทษที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงการจำคุกสูงสุด 15 ปี

สิทธิในความเป็นส่วนตัวของนายชัยถูกละเมิด เมื่อรัฐบาลไทยได้ร้องขอไปยังบริษัทเน็ตเฟิร์มสให้หยุดการให้บริการเว็บไซต์ Manusaya และให้ส่งหมายเลขไอพีและที่อยู่อีเมลของนายชัยให้กับเจ้าหน้าที่ของไทย โดยไม่ได้ขออนุญาตหรือแจ้งให้นายชัยทราบก่อน จากการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอันเป็นความลับของนายชัยให้กับเจ้าหน้าที่ของไทยนี้ ทำให้เขาถูกกักขังที่สนามบินกรุงเทพในเวลาต่อมา และถูกนำตัวไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสอบสวนเกี่ยวกับเว็บไซต์ดังกล่าว ในที่สุดหลังจากถูกปล่อยตัวจากการคุมตัวของตำรวจในกรุงเทพและกลับไปยังแคลิฟอร์เนียแล้ว นายชัยยังถูกเจ้าหน้าที่ของไทยสอบสวนต่อเป็นเวลาอีกสองวัน ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในฮอลลีวูด แคลิฟอร์เนีย นายชัยได้รับแจ้งในภายหลังจากเจ้าหน้าที่ของไทยว่า หากเขาเดินทางกลับมายังประเทศไทยอีก เขาจะถูกจับและฟ้องในข้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เธเรซา แฮร์ริส ผู้อำนวยการบริหารของฮิวแมนไรท์สยูเอสเอ กล่าวว่า “บริษัทอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ก่อนจะส่งข้อมูลความลับให้กับเจ้าหน้าที่สอบสวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการร้องขอนั้นมาจากรัฐบาลต่างประเทศ ข้อมูลคืออำนาจ และบริษัทเหล่านี้มีอำนาจที่จะทำให้บุคคลตกอยู่อันตรายจากการถูกจำคุก จากการกระทำที่เทียบเท่ากับการส่งจดหมายไม่ลงชื่อไปยังบรรณาธิการ บริษัทต่าง ๆ จะต้องร่วมรับผิดชอบ หากพวกเขาละเลยสิทธิของผู้คนที่ใช้บริการของพวกเขา”

กรณีของนายชัยย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่บริษัทอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จะต้องยึดถือเอาสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งแรกสุดในการทำธุรกิจ เมื่อบริษัทหนึ่งมีบริการหลักเป็นการจัดหาเครื่องมือสำหรับการสื่อสารระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำธุรกิจ

อ่านเอกสารเอกสารคำฟ้องฉบับเต็ม ที่นี่ (pdf)

….

ที่มา: US Citizen Sues Web Hosting Company for Identifying Him to Thai Government, World Organization for Human Rights USA

Exit mobile version