อินเทอร์เน็ตกับปัญหาข้อมูลท่วมท้น

2011.08.14 14:20

สำหรับปัญหาข้อมูลท่วมท้นในอินเทอร์เน็ต ในยุคนี้ อินเทอร์เน็ตอาจจะไม่มีคำตอบให้กับคำถามข้างต้น (เนื่องจากยังไม่มีใครเขียนถึงร้านอาหารแถวแยกเกษตร) แต่เสิร์ชเอนจินที่เก่ง ๆ อาจจะรายงานหน้าเว็บที่มีคำว่า “แยกเกษตร” ออกมาได้บ้าง

โดย จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล (@jittat), 13 ส.ค. 2554

พัฒนาการเกี่ยวกับการสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตนั้นเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับการแก้ปัญหาข้อมูลท่วมท้น (information overloaded) พัฒนาการนี้สามารถอธิบายได้โดยพิจารณาจากการหาคำตอบของคำถามว่า “เย็นนี้จะกินอะไรแถวแยกเกษตรดี?” โดยค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต

(1)

ในสมัยที่การนำข้อมูลและความเห็นไปใส่ไว้ในเว็บเป็นเรื่องที่ยากลำบาก หน้าที่ของเสิร์ชเอนจินก็คือการไปขุดหาข้อมูลที่เราต้องการจากอินเทอร์เน็ตที่ไม่ได้มีอะไรมากนัก ความท้าทายของเสิร์ชเอนจินในยุคแรก ๆ ก็คือการเก็บสะสมข้อมูลที่มีในอินเทอร์เน็ตมาให้ครบถ้วน

ในยุคนี้ อินเทอร์เน็ตอาจจะไม่มีคำตอบให้กับคำถามข้างต้น (เนื่องจากยังไม่มีใครเขียนถึงร้านอาหารแถวแยกเกษตร) แต่เสิร์ชเอนจินที่เก่ง ๆ อาจจะรายงานหน้าเว็บที่มีคำว่า “แยกเกษตร” ออกมาได้บ้าง

(2)

อินเทอร์เน็ตอยู่ในสภาวะที่เนื้อหาขาดแคลนได้ไม่นาน เมื่อมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเนื้อหาบนเว็บก็เพิ่มตามอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาดความสำเร็จของเสิร์ชเอนจินไม่ใช่ความครบถ้วนของข้อมูลอีกต่อไป แต่เป็นความสามารถในการจัดเรียงผลลัพธ์ของการค้นหา

กูเกิลเป็นผู้บุกเบิกการวิเคราะห์ความสำคัญจากการเชื่อมโยงกันของหน้าเว็บ หลักทั่ว ๆ ไปก็คือ ถ้าหน้าเว็บใดมีเว็บอื่น ๆ ชี้ไปหามาก ก็น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นเว็บที่ดี และถ้าเว็บที่เป็นเว็บที่ดีชี้ไปหาเว็บใด เว็บนั้นก็น่าจะเป็นเว็บที่ดีด้วยเช่นกัน ผลลัพธ์ของการค้นหาจากกูเกิลนั้นดีกว่าเว็บอื่น ๆ ในยุคนั้นและด้วยปัจจัยรองอื่น ๆ ก็ทำให้กูเกิลยึดครองตลาดเสิร์ชเอนจินได้อย่างแทบจะไร้คู่แข่งอยู่เป็นเวลานาน

เสิร์ชเอนจินเช่นกูเกิล จะเป็นจุดเริ่มต้นของการหาข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต ดังนั้น คำตอบของกูเกิลต่อคำถามว่า “เย็นนี้จะกินอะไรแถวแยกเกษตรดี?” มีผลโดยตรงต่อทางเลือกของลูกค้าร้านอาหาร นี่เป็นที่มาของแนวปฏิบัติที่เรียกรวม ๆ ว่า“การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือค้นหา” (search engine optimization) หรือเอสอีโอ (SEO) ที่พยายามจะปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อเพิ่มอันดับของเว็บในการค้นหาจากเสิร์ชเอนจิน

(3)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เสิร์ชเอนจินค้นหาได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่ผู้ใช้พอใจเสมอไป ถ้าจะให้เปรียบเทียบว่าถ้าคำตอบของคำถามดังกล่าวมาจากเพื่อนที่เรารู้จัก เราจะเชื่อเพื่อนหรือกูเกิลมากกว่ากัน ในเมื่อเราไม่ทราบด้วยซ้ำว่าทำไมกูเกิลนำผลลัพธ์บางอันมาขึ้นก่อนอีกอัน (เพราะว่ากูเกิลคงไม่มีทางทราบหรอกว่าร้านอาหารใดอร่อยหรือไม่อร่อย)

เครือข่ายความเชื่อมโยงกันของบุคคลต่าง ๆ ในโลกของความเป็นจริงนั้น เป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญมาก นอกจากจะใช้เพื่อคาดคะเนรสนิยมความชอบในเรื่องต่าง ๆ แล้ว เครือข่ายนี้ยังเป็นเครือข่ายแห่งความเชื่อใจ นี่คือสาเหตุที่ว่า ทำไมกูเกิลจึงมีความพยายามจะเข้ามาในตลาดเครือข่ายสังคมอยู่ตลอดเวลา และทำไมเฟซบุ๊กจึงปกป้องหวงแหนข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกันของผู้ใช้ ไม่ให้บริษัทอื่น ๆ สามารถเข้าถึงได้โดยตรง

เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ผลลัพธ์ของการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามรสนิยมในการบริโภคข้อมูลของเรา เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เว็บขายสินค้า เช่น อเมซอน มีระบบแนะนำสินค้าโดยพิจารณาจากข้อมูลการซื้อสินค้าของเรามานานแล้ว แต่ผลกระทบของการจัดอันดับโดยเสิร์ชเอนจินนี้ไม่ใช่แค่การได้สินค้าที่ถูกใจมากขึ้นเท่านั้น แต่เป็นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการค้นหามากขึ้น

ในมุมหนึ่ง เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้เราได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น และทำให้การค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สำหรับบางเรื่อง การที่ได้เห็นเฉพาะข้อมูลที่เราต้องการเห็นนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีอย่างแน่นอน

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา 3.0 ต้นฉบับ.

—-
เครือข่ายพลเมืองเน็ต ยินดีรับบทความและจดหมายจากผู้ใช้เน็ตทุกคน โดยไม่จำกัดรูปแบบ เพื่อตีพิมพ์ในเว็บไซต์เครือข่ายพลเมืองเน็ต สามารถส่งมาได้ที่อีเมล contact@thainetizen.org

Tags: ,
%d bloggers like this: