เมื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกไต่สวน: ข้อหาต่อจีรนุช เปรมชัยพร เป็นความน่าอัปยศของไทย

2011.08.24 11:52

โดย ซี.เจ. ฮินเก้: C.J. Hinke เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT)

วันที่ 6 มีนาคม 2552 รัฐบาลไทยได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกจับกุม จีรนุช (จิ๋ว) เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวอิสระประชาไท รัฐบาลไทย การกระทำเช่นนี้เปรียบเหมือนการเหยียบกับระเบิดที่ตัวเองเป็นผู้ฝังไว้เอง

ประชาไทก่อตั้งขึ้นในปี 2547 โดย จอน อึ๊งภากรณ์ นักกิจกรรมทางสังคมและอดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซในปี 2548 จากวันนั้นจนวันนี้ ประชาไทได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า เป็นเสียงเดียวของสื่อไทยที่กล้าแตะเรื่องที่สื่อทั่วไปไม่กล้า

สื่อไทยส่วนใหญ่นั้นล้วนแล้วแต่เซ็นเซอร์ตัวเองอย่างไม่หยุดหย่อน แม้ว่าจะไม่มีคำสั่งเซ็นเซอร์จากรัฐก็ตาม สื่อเหล่านี้มักเลือกที่จะไม่แตะประเด็นสถาบันกษัตริย์ สถาบันทหาร ปัญหาการแบ่งแยกดินแดงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาคอรัปชั่น

ในทางกลับกัน ประชาไทไม่เพียงแต่รายงานประเด็นปัญหาเหล่านี้อย่างแข็งขัน แต่ยังเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านมาถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อข่าวและเรื่องราวเหล่านี้อีกด้วย

เราได้ทราบระหว่างการไต่สวนในศาลว่า จีรนุชไม่ได้ถูกจับเพราะความคิดเห็นที่ถูกโพสในเว็บไซต์ประชาไท แต่เป็นเพราะว่า เธอได้ลบความเห็น 10 ความเห็นซึ่งรัฐบาลไทยกล่าวหาว่าเป็นข้อความที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่เร็วพอ อัยการสั่งฟ้องจีรนุชเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553 โดยเป็นข้อหาภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้ถูกร่างและบัญญัติเป็นกฎหมายในสมัยรัฐบาลที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร 2549

แต่ละข้อหานั้นมีโทษจำคุกสูงสุดถึงห้าปี ซึ่งถือเป็นโทษจำคุกที่หนักมากสำหรับประเทศไทย แม้ว่าจีรนุชจะถูกตั้งข้อหาถึง 10 กระทงซึ่งทำให้รวมโทษสูงสุงได้ถึง 50 ปี แต่เนื่องจากข้อหาทั้งหมดอยู่ในมาตราเดียวกัน เพดานโทษจึงลดเหลือ 20 ปี

ไม่นานหลังจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณงรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และประชาไท ได้เข้าพบอภิสิทธิ์ ในเดือน มีนาคม 2553 ซึ่งอภิสิทธิ์ได้กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้นไม่ควรถูกใช้ในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

หากแต่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ กำลังโกหกคำโต

ต่อมาในงานสัมนาซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย อภิสิทธิ์ถูกถามถึงกรณีการจับกุมผู้อำนวยการประชาไท อภิสิทธิ์ตอบว่า เขาเข้าใจว่า คดีถูกถอนฟ้องไปแล้ว และกล่าวว่า การจับกุมจีรนุชนั้นเป็นสิ่งที่เขารู้สึกเศร้าใจที่สุดภายใต้การบริหารงานของเขา

อดีตนายกอภสิทธิ์ไม่เพียงแต่เป็นคนช่างโกหก แต่ยังเป็นนักโกหกที่ไม่ได้เรื่องอีกด้วย เพราะคำโกหกของเขาถูกจับได้บ่อยครั้ง

ระหว่างที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำรัฐบาลอยู่นั้น ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม 2553 ได้ประกาศบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้อำนาจกับกองทัพอย่างมหาศาลในการเซนเซอร์ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งนำมาสู่การบล็อกเว็บไซต์ประชาไทและเว็บไซต์ FACT นอกจากนี้กองทัพยังมีอำนาจในการตัดสินใจในการตั้งข้อหาคดีอาญากับประชาชนอีกด้วย

กองทัพไทย ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำการขยายขอบเขตผลกระทบของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดาชานุภาพ โดยทำให้มันมีผลกระทบต่อบุคคลที่สาม อย่างการที่ให้ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตต้องมารับโทษอันสืบเนื่องมาจากความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย เป็นผลให้จีรนุชถูกจับและต้องคดีในที่สุด

รัฐบาลไทยได้พยายามที่จะขยายขอบเขตการรับผิดของการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้กว้างออกไปอีก ดังจะเห็นได้จากอีกกรณีหนึ่ง ที่ โจ กอร์ดอน: Joe Gordon พลเมืองอเมริกัน ผู้ซึ่งเพียงแค่โพสลิงค์ไปยังคำแปลของหนังสือต้องห้ามชื่อ เดอะคิงเนเวอร์สไมล์: The King Never Smiles ซึ่งเขียนโดย พอล แฮนด์เลย์: Paul Handley

ก่อนที่จีรนุชจะถูกจับนั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีทีได้ติดต่อเธอมาเสมอๆ เพื่อขอความร่วมมือให้เธอลบความเห็นที่อาจผิดกฎหมาย ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานที่มาหน้าที่ดูแลการบล็อกและเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตของกระทรวงไอซีทีนั้นก็ได้ให้การในศาลว่า จีรนุชได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการลบข้อความที่อาจหมิ่นเหม่ที่จะผิดกฎหมายด้วยดีเสมอมา

แต่ทว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีทีไม่ได้ติดต่อจีรนุชเพื่อขอความร่วมมือให้ลบความเห็นที่นำมาสู่ปัญหาแก่เธอแต่อย่างใด นี่เป็นหลักฐานที่สำคัญที่อาจทำให้เชื่อได้ว่า นี่เป็นแผนเพื่อที่จะนำไปสู่การปิดประชาไท

ในการสืบพยานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราได้รับทราบว่า ไม่มีข้อความใดเลยที่เป็นการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรง หากแต่เป็นการใช้โค้ดเนม ซึ่งอัยการอ้างว่า โค้ดเนมเหล่านี้เป็นคำที่ใครๆ ก็รู้ความหมายกันดี การจะผลิตซ้ำคำโค้ดเหล่านี้ก็จะเป็นกระทำความผิดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย

แต่ขอโทษจริงๆ เถอะ ผมไม่เห็นว่า โค้ดเนมเหล่านี้มันจะชัดเจนตรงไหนว่ากล่าวถึงใครและอย่างไร อย่างน้อยก็จนเมื่อมีการถกเถียงกันอย่างเปิดเผยในศาลและอัยการได้อธิบายถึงความหมายที่เป็นไปได้ของโค้ดเนมเหล่านี้

ถึงแม้ว่าพวกเราจะมีกำลังใจดี เพราะมีผู้สนับสนุนจีรนุชมาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีจำนวนมาก แต่เราก็ยังอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า ทำไมการพิจารณาคดีนี้ถึงได้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ได้มีประโยชน์อันใดต่อสถาบันกษัตริย์ไทยเลย หากแต่เป็นประโยชน์ต่อการธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำเดิมผู้ซึ่งรับใช้ประโยชน์และวาระของกองทัพ

ในฐานะสื่อมวลชน จีรนุชได้ทำงานอย่างทุ่มเทและเสียสละเพื่อสังคมไทย การจับกุมและดำเนินคดีกับเธอจึงเป็นสิ่งที่น่าละอายของประเทศไทย

ประเทศไทยมีฮีโร่ผู้สละเลือดเนื้อและชีวิตมามากพอแล้ว ฮีโร่ที่ยึดในหลักสันติวิธีอย่างจีรนุชต่างหาก คือสิ่งที่เราโหยหา

ในการสืบพยานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยวางแผนว่า จะสืบพยานฝ่ายละ 14 ปาก หากแต่ปรากฎว่า การสืบพยานโจทก์ใช้เวลานานกว่าที่คาด การสืบพยานคดีจำเลยจึงต้องเลื่อนออกไปต้นเดือนกันยายน 2554 ความจริงก็คือ ข้อกล่าวหาต่อจีรนุชทั้งหมดนั้นดูมีเลศนัยและคดีนี้ไม่ควรมีอยู่ตั้งแต่แรก

คดีของจีรนุชถูกจับตามองจากองค์กรนานาชาติจำนวนมาก ทั้งนักกิจกรรมด้านเสรีภาพในการแสดงออก สถานทูตอเมริกา สหประชาชาติ และแม้แต่รัฐสภาอังกฤษ องค์กรนานาชาติหลากหลายองค์กรได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดี

จะไม่มีใครลืมจีรนุช คดีของเธอ ได้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากนานาชาติ และคลื่นสึนามิความคิดเห็นก็เพิ่งจะเริ่มต้น เราขอระงับที่จะเรียกประเทศของเราว่าเป็นประชาธิปไตย ถ้าหากจีรนุชถูกตัดสินว่าผิด

หนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้คือ การปล่อยตัวนักโทษการเมือง ถ้าหากรัฐบาลใหม่จริงใจในเรื่องนี้จริงๆ แล้วละก็ รัฐบาลใหม่ก็ควรจะถอนฟ้องคดีภายใต้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายหมิ่นพรบบรมเดชานุภาพทั้งหมด ในขณะนี้มีพลเมืองไทยเกือบ 500 คนที่ถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายสองฉบับนี้ และก็มีโครงการรณรงค์ต่อต้านกฎหมายดังกล่าวอยู่อย่างน้อยห้าโครงการ

ถ้าหากเหตุผลไม่สามารถมีชัยได้ในประเทศไทย เราก็คงไม่มีหวังที่จะมีอิสระในอนาคต

การสืบพยานคดีของจีรนุชจะเริ่มอีกครั้งในวันที่ 1 กันยายน ที่ศาลอาญา รัชดา (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลาดพร้าว)

เราขอเรียกร้องให้ผู้อ่านใช้เวลาอย่างน้อยเช้าวันหนึ่งหรือบ่ายวันหนึ่ง ไปให้กำลังใจจีรนุชที่ศาล เพื่อยืนยันสิทธิในการสื่อสารอย่างเสรีของเรา

เรารักจีรนุช และเรารักประชาไท

แปลและเรียบเรียง: ทวีพร คุ้มเมธา เครือข่ายพลเมืองเน็ต

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ: Free Speech On Trial In Thailand: Trial Of Chiranuch Premchaiporn Is Thailand’s Shame. By CJ Hinke

Tags: , , ,
%d bloggers like this: