แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต: ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองแถลงนโยบายเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และสิทธิเสรีภาพประชาชนไทย
ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ ซึ่งรวมถึงการนำเสนอนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในเวทีต่าง ๆ ของพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลาง เครือข่ายพลเมืองเน็ตพบว่ามิติในด้านคุ้มครองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพนั้นแทบจะไม่ถูกพูดถึงเลย นโยบายทั้งหมดถูกเน้นเฉพาะในส่วนของ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงข่ายอินเทอร์เน็ต (โครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ), อุปกรณ์รับ (โครงการหนึ่งนักเรียนหนึ่งแท็บเล็ต), หรือการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศ แต่ได้ละเลยที่จะพูดถึงว่า เนื้อหา อะไรบ้างที่จะถูกส่งเสริมให้มีและได้รับอนุญาตให้เข้าถึงได้บนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น และ ใคร ที่จะสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของได้
ไม่มีพรรคการเมืองใดเลย ที่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาได้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัวสมาคมของประชาชน
ไม่มีพรรคการเมืองใดเลย ที่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายที่จำเป็นต่อการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของประชาชน
และไม่มีพรรคการเมืองใดเลย ที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในแบบประชาธิปไตย ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีลักษณะเป็นอย่างไร
เครือข่ายพลเมืองเน็ต จึงขอตั้งคำถามและข้อเสนอแนะจากมุมมองของประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ถึงผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้แทนราษฎรดังนี้
1. คำถามต่อสิทธิในการเข้าถึง
1.1. พรรคของท่านมีนโยบายอย่างไร เพื่อให้การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน (โครงข่าย, อุปกรณ์รับ, ซอฟต์แวร์) และเนื้อหา (บริการ, ข่าวสารทั่วไป) เป็นไปอย่างถ้วนหน้า โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสภาพทางร่างกาย[1] หรือชาติภาษา[2]
2. คำถามต่อเสรีภาพในการแสดงออก
2.1. พรรคของท่านให้คำจำกัดความ “ภัยต่อความมั่นคงของรัฐ” ว่าอย่างไร
2.2. พรรคของท่านมีนโยบายอย่างไร ต่อการดูแลเว็บไซต์ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
2.3. พรรคของท่านมีจุดยืนอย่างไร ต่อการยกเลิกโทษอาญาของกฎหมายหมิ่นประมาท ให้คงไว้เฉพาะโทษทางแพ่ง
3. คำถามต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัว
3.1. พรรคของท่านมีนโยบายอย่างไร ต่อการคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว
3.2. พรรคของท่านมีนโยบายอย่างไร ต่อการดักการเข้าถึงข้อมูลด้วยอุปกรณ์อัตโนมัติ (สนิฟเฟอร์)[3] และการสอดส่องพฤติกรรมประชาชนที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิฯ ในโครงการ “ลูกเสือไซเบอร์”[4] และ “โครงการสายลับจิ๋ว”[5] ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของหลายกระทรวงและหน่วยงาน
4. คำถามต่อสิทธิในการร่วมตัดสินใจ
4.1. พรรคของท่านมีนโยบายอย่างไร เพื่อสนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐาน[6]
4.2. พรรคของท่านมีนโยบายอย่างไร ต่อการเปิดเว็บท่าแบบ “Open Data” เพื่อให้ความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ[7]
4.3. พรรคของท่านมีจุดยืนอย่างไร ต่อข้อเรียกร้องของประชาชนต่อการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ดังที่มีประชาชนมากกว่า 1,900 คนได้ลงชื่อกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายเพื่อประชาชน[8]
5. คำถามต่อสิทธิในการเป็นเจ้าของร่วม
5.1. พรรคของท่านมีนโยบายอย่างไร ต่อการสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้คืนทรัพยากรคลื่นความถี่กลับไปให้กสทช.จัดสรรเพื่อประโยชน์สาธารณะ
5.2. พรรคของท่านมีนโยบายอย่างไร ต่อการอนุญาตให้ท้องถิ่นสามารถจัดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคมและกระจายเสียงขนาดเล็กได้เอง เพื่อใช้งานในกิจการของท้องถิ่น และเพื่อใช้ในกรณีเกิดพิบัติภัย
เครือข่ายพลเมืองเน็ตหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คำถามใน 5 ประเด็นใหญ่นี้ จะได้รับการถ่ายทอดไปถึงพรรคการเมืองต่างๆ ผ่านประชาชนและสื่อมวลชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้แทนราษฎรจะตอบรับข้อคำถามดังกล่าว เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ประชาชนในการตัดสินใจในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ และเป็นคำมั่นสัญญาต่อการดำเนินแนวนโยบายต่อไปหลังการเลือกตั้ง
เพื่อเสรีภาพ
เครือข่ายพลเมืองเน็ต
28 มิถุนายน 2554
—-
[1] เช่น ประกาศเป็นข้อบังคับว่า บริการภาครัฐออนไลน์ จะต้องทำตาม “แนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้” (TWCAG 2010) http://www.equitable-society.com/Download/TWCAG2010.doc
[2] เช่น ประกาศเป็นข้อบังคับว่า บริการภาครัฐออนไลน์ จะต้องจัดให้มีภาษาท้องถิ่นควบคู่กับภาษาไทยกลาง และอาจรวมถึงภาษาในอาเซียนตามความเหมาะสม ในกรอบของการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน ปี 2558
[3] โวยติดสนิฟเฟอร์ ชาวเน็ตยี้ แก้โหลดหนังเพลง http://thainetizen.org/node/1964
[4] ตั้งเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรมเฝ้าระวังเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน http://bit.ly/scout20101220
[5] “ดีเอสไอ” เปิดโครงการสายลับจิ๋ว แจ้งเบาะแสคดีทรัพย์สินทางปัญญา http://bit.ly/dsi20110615
[6] “หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำหรือแปลงเอกสารและข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ของกระทรวงไอซีที http://www.thailibrary.in.th/2011/05/12/econtent-guideline/
[7] ตัวอย่างเช่น Data.gov.uk ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร และ Data.gov.sg ของรัฐบาลสิงคโปร์
[8] “หยุด” ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ http://ilaw.or.th/node/883