ในโอกาสการประชุมอินเทอร์เน็ตภิบาลระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2011 (APrIGF : Asia-Pacific Regional Internet Governance Forum 2011) ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 16-18 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมในอาเซียน แสดงความเป็นห่วงต่อการควบคุมอินเทอร์เน็ตและการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ พร้อมกับย้ำว่าการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตนั้น จะต้องเป็นไปตามข้อแนะนำของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ที่ได้เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (เอกสาร A/HRC/17/27 หน้า 19-22)
ข้อแนะนำในการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตดังกล่าว โดยสรุปได้แก่ 1) กฎหมายต้องชัดเจน-โปร่งใส-คาดเดาได้ 2) มีเหตุผลชอบธรรมเพียงพอ และ 3) ต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย-ทำเฉพาะที่จำเป็น-ไม่เกินเหตุ/ตามสัดส่วน ทั้งนี้จะต้องไม่ดำเนินคดีกับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่นตัวกลางที่เป็นเพียงทางผ่านของข้อมูล และจะต้องไม่ทำให้การแสดงออกที่ชอบธรรมต้องกลายเป็นความผิดอาญา
ประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วงในอาเซียนขณะนี้ก็คือ แม้บางประเทศจะมีกฎหมายอินเทอร์เน็ตที่ชัดเจนแล้วก็ตาม แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามอำเภอใจ (arbitrary) และเกินเหตุ ซึ่งรวมถึงการจับกุมคุมขังเฉพาะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และการไม่ให้ประกันตัว
อ่านแถลงการณ์ร่วมของประชาสังคมอาเซียน ได้ที่ 2011 Southeast Asia Civil Society Statement on Internet Governance
องค์กรที่สนับสนุนแถลงการณ์ดังกล่าว มีองค์กรจากประเทศไทย, อินโดนีเซีย, ติมอร์ตะวันออก, เวียดนาม, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, พม่า และองค์กรระดับภูมิภาคได้แก่ FORUM-ASIA และ SEACeM