กลไกการกำกับดูแล: โค้ดสร้างค่านิยม ค่านิยมสร้างโค้ด

2011.06.14 20:53

ตอนที่ 5 ของคอลัมน์ “ความจริงจากโลกเสมือน” โดย สฤณี อาชวานันทกุล (พฤษภาคม 2554)

คอลัมน์นี้ตอนก่อน ๆ เกริ่นเรื่องกฎหมายและค่านิยมในฐานะกลไกการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต วันนี้จะมาว่ากันเรื่อง “โค้ด” – โค้ดคอมพิวเตอร์ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของโปรแกรม เว็บไซต์ และทุกสิ่งทุกอย่างในโลกดิจิทัล แต่เราไม่ค่อยนึกถึงมันเพราะเรามองไม่เห็น หรือถ้าเห็นก็ไม่ค่อยได้ไตร่ตรอง

ถ้าเปรียบอินเทอร์เน็ตเป็นรถยนต์ โค้ดก็เปรียบเสมือนเครื่องยนต์และกลไกต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นรถ แต่เราไม่ค่อยได้ครุ่นคิดว่าแต่ละเสี้ยวส่วนนั้นถูกออกแบบมาเพื่ออะไร และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเราอย่างไรบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์แทบทุกคันมีเข็มขัดนิรภัยเพราะกฎหมายแทบทุกประเทศบังคับให้มี ที่บังคับก็เพราะสมาชิกในสังคมแทบทุกแห่งไม่อยากเห็นอุบัติเหตุบนท้องถนน และคิดว่าการกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ติดเข็มขัดนิรภัยและให้คนขับคาดเข็มขัดนั้น เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล (ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่จะเลือกผลิตรถยนต์ไร้เข็มขัด และของคนขับที่จะไม่รัดเข็มขัด) ที่ยอมรับได้เนื่องจากสร้างประโยชน์ต่อคนในสังคมโดยรวม (ช่วยชีวิตคนขับรถ คนโดยสารรถ และคนเดินถนน)

ปัจจุบันรถยนต์หลายยี่ห้อไม่เพียงแต่ “มี” เข็มขัดนิรภัย แต่ยังสร้างแรงกดดันและแรงจูงใจให้คน “ใช้” เข็มขัดนิรภัยจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น รถของผู้เขียนส่งสัญญาณกวนประสาทหูไม่หยุด จนกว่าคนขับและคนนั่งหน้าจะรัดเข็มขัด

โค้ดคอมพิวเตอร์บนเน็ต “ตีกรอบ” และส่งผลต่อพฤติกรรมของคนเราไม่แพ้ดีไซน์รถยนต์หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่เราใช้ เมื่อมีคนใช้โค้ดนั้นเป็นจำนวนมากและติดต่อกันนาน ๆ พฤติกรรมนั้นก็อาจกลายเป็น “ค่านิยม” ของสังคมได้ ในทางกลับกัน ค่านิยมในโลกนอกเน็ตก็สามารถส่งผลต่อโค้ดได้เช่นเดียวกัน เพราะคนเขียนโค้ดต้องใช้ชีวิตอย่างน้อยส่วนหนึ่งอยู่ในโลกจริง ในฐานะสมาชิกของสังคมนอกเน็ต

โค้ดหนุนค่านิยมชนิดที่เราคุ้นเคยที่สุด น่าจะเป็นโค้ดซึ่งช่วยกำกับดูแลเว็บบอร์ด (โมเดอเรต) ของผู้ดูแลเว็บบอร์ด (แอ็ดมิน) ซึ่งแต่ละที่ก็จะไม่เหมือนกัน เว็บบอร์ดบางแห่งแทบไม่มีการกำกับดูแลใด ๆ เลย ปล่อยให้ใครโพสอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ รวมทั้งคำผรุสวาทหยาบคายและข้อมูลส่วนตัว (เบอร์โทรศัพท์บ้าน ที่อยู่บ้าน ฯลฯ) ของคนที่ผู้โพสบางคนจงเกลียดจงชัง อยากให้คนอื่นร่วมประณาม หรือเพียงแต่รู้สึกคึกคะนอง สะใจที่ “ล้วง” ข้อมูลเหล่านี้มาได้สำเร็จ

โค้ดที่ช่วยกำกับดูแลมีมากมายหลายแบบ ผู้ดูแลเว็บบอร์ดบางแห่งเขียนโค้ด “แปลง” คำหยาบให้เป็นคำที่ถูกเซ็นเซอร์ เช่น ค** หรือ **** หรือเป็นคำอื่นโดยสิ้นเชิง เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้โพสรับรู้ว่าพฤติกรรมนั้นไม่พึงประสงค์ในเว็บนี้ เว็บหลายแห่งมีฟังก์ชั่น “โหวตลบ” หรือ “แจ้งลบ” ให้สมาชิกคนอื่นได้มีส่วนร่วมในการกำจัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม สมาชิกที่ละเมิดกฏกติกาบ่อยครั้งอาจถึงขั้นถูกแบนถาวรจากเว็บ (แต่ผู้ดูแลเว็บที่ทำแบบนี้ก็ต้องอธิบายเหตุผลได้อย่างชัดเจนและไม่เลือกปฏิบัติ อ่านตัวอย่างที่มีปัญหาได้บนบอร์ด “เครือข่ายผู้ถูดยึดอมยิ้มจากเว็บพันดริฟท์” บนเว็บ Drama-Addict.com)

โดยทั่วไป ตอนก่อตั้งใหม่ ๆ เว็บอาจไม่มีฟังก์ชั่นเหล่านี้เลย แต่เมื่อเวลาผ่านไป เว็บเริ่มได้รับความนิยม มี “สแปม” และ “เกรียน” เข้ามาก่อความรำคาญมากขึ้น ผู้ใช้ขาประจำก็มักจะยินดีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ดูแลเว็บ ช่วยเขียนกฏกติกา อาสาเป็นแอ็ดมิน โค้ดฟังก์ชั่นโหวตลบ ติดตั้งโปรแกรมกำจัดสแปม ฯลฯ

พูดง่าย ๆ คือ สำหรับเว็บที่อยู่ได้ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ใช้เน็ต แอ็ดมิน แฟนพันธุ์แท้ และขาประจำทั้งหลายจะร่วมกันใช้ “มาตรการทางสังคม” และ “แปลง” ค่านิยมเป็นโค้ด ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาบรรยากาศที่พวกเขาชื่นชอบเอาไว้ เว็บใดที่ไม่สนใจเสียงบ่นหรือข้อเรียกร้องของผู้ใช้ ไม่สนใจเรื่องกฏกติกามารยาทเลย ปล่อยให้ใครโพสอะไรก็ได้ตามใจชอบ เว็บนั้นก็สุ่มเสี่ยงที่จะค่อย ๆ สูญเสียขาประจำไป เพราะการเฮโลไปตั้งเว็บใหม่นั้นง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วย เหลือแต่พวกสุดโต่งที่ไม่แคร์ความรู้สึกของใคร และจะดึงดูดพวกสุดโต่งเหมือนกันเข้ามามากขึ้น

ชุมชนเน็ตมีลักษณะ “เลือกตัวเอง” (self-selection) ค่อนข้างสูง ใครที่ไม่ชอบการกำกับดูแลใด ๆ ทั้งสิ้นก็จะไปรวมตัวกันอยู่ตามเว็บบอร์ดที่ไม่มีใครกำกับดูแลเลย แต่ยากที่เว็บแบบนั้นจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะถึงที่สุดแล้วเราทุกคนยอมรับว่า สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลควรมีข้อจำกัด – เราเห็นด้วยกับการรัดเข็มขัดในรถยนต์ฉันใด เราก็น่าจะเห็นด้วยกับการใช้โค้ดตีกรอบพฤติกรรมในเน็ตฉันนั้น แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินว่าค่านิยมที่เราอยากเห็นนั้นมีอะไรบ้าง ควรต้องผ่านการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในชุมชนจนได้ข้อสรุประดับหนึ่ง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เจ้าของเว็บหรือโปรแกรมเมอร์คิดขึ้นเองตามอำเภอใจ

ตัวอย่างอื่น ๆ ของการใช้โค้ดสร้างหรือสนับสนุนค่านิยมที่พึงประสงค์ :

ตัวอย่าง #1 บล็อกนัน (Blognone.com) – บล็อกนันเป็นเว็บข่าวไอทีชั้นแนวหน้าของเมืองไทย แยกเนื้อหาที่เป็นโฆษณาในรูปบทความ (advertorial) ออกจากเนื้อหาปกติของเว็บอย่างชัดเจน ด้วยแท็ก “advertorial” นับว่าเป็นมาตรฐานที่สูงกว่ามาตรฐานที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ของสื่อกระแสหลักไทยในปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่ติดป้าย “advertorial” บอกคนอ่าน แต่สื่อบางฉบับยังตกต่ำถึงขนาด “ขาย” พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งให้บริษัทลงโฆษณาอย่างแนบเนียน ไม่บอกไม่มีทางรู้ว่าเป็นโฆษณา

ตัวอย่าง #2 เฟซบุ๊ก (Facebook.com) – ในเดือนพฤษภาคม 2011 เฟซบุ๊กประกาศใช้เทคโนโลยี “Photo DNA” ของไมโครซอฟท์ เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามสื่อลามกอนาจารเด็ก ซึ่งแพร่หลายอย่างรวดเร็วบนเน็ต และผู้เผยแพร่หลบเลี่ยงการตรวจจับด้วยการดัดแปลงรูปถ่ายทีละน้อย ทำให้จับยากมากเพราะไม่ใช่สำเนาที่เหมือนกับต้นฉบับ 100%

เทคโนโลยี Photo DNA แก้ปัญหานี้ด้วยการสร้าง “ลายเซ็น” ที่เป็นเอกลักษณ์ของรูปถ่ายแต่ละใบขึ้นมา คล้ายกับลายนิ้วมือของคน ทำให้รู้ว่ารูปถ่ายใบไหนเป็นสำเนาของใบอื่น แม้มันจะถูกเปลี่ยนขนาดหรือดัดแปลงไป ทำให้ค้นหารูปถ่ายลามกเด็กในบรรดารูปนับล้านได้อย่างง่ายดายกว่าเดิมมาก เฟซบุ๊กเป็นบริษัทแรกที่ประกาศใช้เทคโนโลยีนี้ และก็นับว่านี่เป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับผู้ประสงค์ร้ายที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด

นี่เป็นตัวอย่างอันดีของการใช้โค้ดสนับสนุนค่านิยมและจับกุมผู้กระทำผิดกฏหมาย โดยไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้บริสุทธิ์ (เช่น ห้ามคนอัพโหลดรูปใด ๆ เลย เพียงเพราะหนึ่งในพันเป็นรูปลามกเด็ก)

ตัวอย่าง #3 ทวิตเตอร์ (Twitter.com) – บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์มีหลายแบบ แบ่งได้คร่าว ๆ เป็นแบบ “สาธารณะ” (public คือให้ใครก็ได้มาตาม (follow) เราเพื่ออ่านทวีตของเรา) กับแบบ “ลับ” (private คือถ้าอยากมาตามเราต้องขออนุญาตเราก่อน) โปรแกรมอ่านทวีตยอดนิยมส่วนใหญ่คำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้ที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมทวิตเตอร์บนไอโฟนไม่อนุญาตให้ผู้เขียนกดปุ่มเครื่องหมาย retweet (ทวีตซ้ำข้อความของคนอื่น) ของคนที่ใช้บัญชีแบบลับได้ตรง ๆ ถ้าอยากทวีตซ้ำจะต้องลอกข้อความของเขาไปทวีตเอง เท่ากับเป็นการเตือนให้เรารู้ว่าผู้ใช้คนนั้นอยากใช้ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ส่วนตัว เราไม่ควรนำข้อความที่เขาทวีตมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ คนเขียนโค้ดทวิตเตอร์ยังให้ความสำคัญกับการแยกแยะระหว่างคนที่เราตาม (แปลว่าเราน่าจะไม่รู้สึกว่าเขาน่ารังเกียจ ไม่อย่างนั้นคงเลิกตาม) กับคนที่เราไม่ได้ตาม (เป็นใครที่ไหนเราก็ไม่รู้) ยกตัวอย่างเช่น คลิปวีดีโอของคนที่เราตามจะปรากฏให้รับชมโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเป็นคลิปวีดีโอของคนที่เราไม่ได้ตาม มันจะไม่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏคือคำเตือน “ทวีตนี้มาจากคนที่คุณไม่ได้ตาม สื่อที่เขาทวีตบอกอาจเป็นอะไรก็ได้ แม้แต่เนื้อหาที่ทำให้คุณรังเกียจ” ถ้าอยากดูคลิป เราต้องกดปุ่ม “Display media” ต่อท้ายคำเตือนนี้เอง

ตัวอย่าง #4 กราวาตาร์ (Gravatar.com) – เว็บไซต์นี้ให้เราสร้าง “รูปแทนตัวสากล” ซึ่งจะแสดงโดยอัตโนมัติบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ใช้โค้ดกราวาตาร์ โดยที่เราไม่ต้องไปสร้างบัญชีผู้ใช้เพิ่มก่อน ทุกครั้งหลังจากที่เราอัพโหลดรูปที่อยากใช้เป็นรูปแทนตัว กราวาตาร์จะบอกให้เราเลือก “เรทติ้ง” รูปของเรา ว่าเป็น G, PG, R หรือ X เพื่อจะได้แสดงผลอย่างถูกต้องบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเลือกเรท X กราวาตาร์จะไม่แสดงรูปของเราบนเว็บไซต์ที่ไม่รับเรท X (เช่น เว็บบอร์ดเกี่ยวกับหนังสือเด็ก) จะแสดงรูปก็ต่อเมื่อเว็บที่รับโค้ดกราวาตาร์ระบุตัวเองว่าเป็นเว็บเรท X (เช่น เว็บบอร์ดเกี่ยวกับหนังโป๊) ในขณะที่ถ้าเราเลือกเรท G รูปของเราก็จะแสดงผลบนเว็บไซต์ทุกประเภท

แน่นอนว่าลำพังการใช้โค้ดไม่อาจรับประกันได้ว่าคนใช้เน็ตจะซื่อสัตย์หรือรับผิดชอบ (เช่น คนใช้กราวาตาร์จะไม่เลือกเรท G ทั้งที่ใช้รูปเรท X) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โค้ดที่ใส่ใจกับค่านิยมทำนองนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้เน็ตได้หยุดคิดถึงความรับผิดชอบของตัวเอง และมีส่วนสร้างสังคมเน็ตที่พึงปรารถนา.

Tags: , ,
%d bloggers like this: