[English version: Press Release: The Trial On The Case Study Of Internet & Intermediary Liability In Thailand]
สืบเนื่องจากวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ออกแถลงการณ์ว่าด้วยเรื่องข้อเสนอในการปรับปรุงแก้ไขการบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ด้วยเหตุว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังขัดกับคุณลักษณะของอินเทอร์เน็ตในหลายแง่มุม
นอกจากนี้ ระหว่างสถานการณ์ทางการเมืองที่แหลมคมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายพลเมืองเน็ตพบว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตราที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ มาตรา 14 และ 15 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานกับผู้ที่คิดต่างทางการเมือง หรือคิดต่างจากรัฐบาล ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนได้แก่ กรณีการจับกุมและตั้งข้อหาร้ายแรงกับจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (http://www.prachatai.com) ถึงสองคดี โดยในคดีแรกนั้น ตำรวจได้ตั้งข้อหากับจีรนุชว่ามีความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ คือเจตนาจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดประชาไท อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าวได้ถูกลบออกจากระบบแล้วเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะมีการจับกุม ภายหลังจากที่จีรนุชได้รับจดหมายจากกองบังคับการปราบปราม ซึ่งแสดงถึงเจตนาของจีรนุชว่ามิได้จงใจสนับสนุนการ กระทำผิดดังกล่าว นอกจากนี้ ระยะเวลา 20 วันที่ตำรวจกล่าวอ้างว่าเป็นการ “จงใจ สนับสนุน หรือยินยอม” ก็ยังไม่ได้มีกำหนดอยู่ในกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงตัวเลขที่ปรากฏในบันทึกของตำรวจหลังจากที่มีการจับกุมแล้วเท่านั้น
เครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่า คดีของจีรนุชชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ในหลายประเด็นสำคัญอาทิ
1. ภาระของ “ท่อ”
มาตรา 15 ปฏิบัติกับผู้ให้บริการ หรือ “ตัวกลาง” (intermediary: เช่น ศูนย์ข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บบอร์ด บล็อก) เสมือนหนึ่งเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ผู้มีทั้งหน้าที่และความสามารถในการคัดกรองเนื้อหาทั้งหมดก่อนตีพิมพ์ แต่คุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์เช่นทุกวันนี้คือ ข้อมูลทุกอย่างไหลผ่านอย่างรวดเร็ว ตัวกลางจึงเป็นเพียง “ท่อข้อมูล” หรือช่องทางผ่านของเนื้อหาเท่านั้น (mere conduit) หากผู้บังคับใช้กฎหมายไทยจะถือว่าตัวกลางต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลและเนื้อหาทั้งหมดที่ผ่านตัวกลางแล้ว นั่นย่อมหมายความว่า ตัวกลางจะต้องกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมดก่อนการเผยแพร่ ซึ่งด้วยความเร็วและปริมาณข้อมูลจำนวนมาก สิ่งดังกล่าวยากที่จะทำให้เป็นไปได้ โดยไม่กระทบกับการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
2. ตัวกลางกลายเป็น “แพะ”
ในการดำเนินคดีกับ “ตัวกลาง” ดังเช่นในคดีของจีรนุชทั้งสองคดีนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้โพสต์ข้อความเพียงรายเดียวที่ถูกดำเนินคดี และศาลชั้นต้นได้มีคำตัดสินไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2554 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าฝ่ายโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยคือผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง ซึ่งในกระบวนการสอบสวนเกี่ยวกับผู้โพสต์รายนี้นั้น เว็บไซต์ประชาไทได้ให้ความร่วมมือตามที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง ดังนั้นที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรพยายามเอาผิดกับตัวกลาง ทั้งที่ได้รับความร่วมมือจากตัวกลางซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบอินเทอร์เน็ตแล้วแต่ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดตัวจริงได้
เครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่า ในประเทศที่กฎหมายเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะมีการกำหนดข้อยกเว้นความรับผิด (safe harbour) โดยถือว่าตัวกลางเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าหากไม่สามารถพิสูจน์เจตนาการกระทำความผิดได้ เนื่องจากตัวกลางคือพื้นที่ที่โดยปกติไม่มีส่วนรู้เห็น หลักการนี้จึงมีไว้เพื่อคุ้มครองตัวกลางจากภาระทางกฎหมายที่ไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ไม่ได้ให้เสรีภาพแก่ตัวกลางจนเกินขอบเขต เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งตัวกลางเมื่อพบเนื้อหาที่เป็นความผิด และขออำนาจศาลเพื่อสั่งให้มีการลบเนื้อหานั้นได้ ทั้งนี้ต้องเป็นไปในระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด (notice and take down procedures) เป็นต้น และที่สำคัญอยู่บนหลักการซึ่งถือว่าตัวกลางนั้นบริสุทธิ์โดยพื้นฐาน (by default)
ดังนั้นคดีของจีรนุช เปรมชัยพร และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ในฐานะที่เป็นนักปกป้องสื่ออินเทอร์เน็ตจึงเป็นที่สนใจของแวดวงสิทธิเสรีภาพสื่อออนไลน์ทั่วโลก เพราะเป็นคดีที่ไม่ได้กระทบต่อการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นบรรทัดฐานของสิทธิเสรีภาพสื่ออินเทอร์เน็ตในระดับสากลอีกด้วย เพราะคดีนี้สะท้อนถึงตัวชี้วัดเรื่องภาระของตัวกลางกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และทิศทางของเสรีภาพอินเทอร์เน็ตและสิทธิพลเมืองเน็ตในประเทศไทยอันส่งผลผลกระทบต่อทิศทางของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน
เนื่องจากการสืบพยานในคดีสำคัญดังกล่าวนี้จะเริ่มต้นขึ้นในวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เครือข่ายพลเมืองเน็ตจะร่วมติดตามการพิจารณาคดีดังกล่าวเช่นเดียวกับองค์กรด้านสื่อมวลชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคและระดับสากล พร้อมทั้งการรายงานความคืบหน้าของการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกรณีศึกษาในเรื่องดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ ศาลอาญาจะนัดสืบพยาน คดีที่ นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท เป็นจำเลยและสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุดกรณี เป็นโจทก์ฟ้อง ในคดีการเอาผิดกับตัวกลาง (intermediary) ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550มาตรา 15 ในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ดได้จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการดำเนินการนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ อันเป็นข้อมูลมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
โดยมีรายละเอียดดังนี้
วันนัดสืบพยาน
สืบพยานโจทก์ในวันที่ 4, 8, 9, 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
ช่วงเวลา 9.00- 12.30 และ 13.30 – 16.00
สืบพยานจำเลย
ในวันที่ 11, 15, 16, 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
ช่วงเวลา 9.00- 12.30 และ 13.30 – 16.00
ที่ศาลอาญา รัชดา
ภูมิหลัง คดีกองปราบ
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (http://www.prachatai.com/webboard) ซึ่งถูกกองปราบปรามจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ 2552 ด้วยข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 เนื่องเพราะไม่ได้ลบข้อความในเว็บบอร์ด ที่เข้าข่ายขัดต่อกฎหมายดังกล่าว ภายในเกณฑ์เวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งไว้ ในขณะที่จีรนุชได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ เนื่องจากได้ลบข้อความดังกล่าวออกทันทีที่ได้รับแจ้ง และได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายตลอดมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
British MPs voice concern over Thai webmaster trial (http://asiancorrespondent.com/47520/british-mps-voice-concern-over-trail-against-prachatais-webmaster/)
Court drops internet lese majeste case (http://www.bangkokpost.com/news/local/219110/court-drops-lese-majeste-case-against-woman)
Analysis on the Chiranuch’s cases (http://thainetizen.org/analysis-chiranuch-latest-charges)
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ:
ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ 082-344-8724
ทวีพร คุ้มเมธา 089-829-1167
เครือข่ายพลเมืองเน็ต Email: contact@thainetizen.org