[28-29 พ.ย.] คุยกับสถาปนิก “คนกับพื้นที่” และ เวทีพัฒนาคำถาม “ออนไลน์ศึกษา” #nm10

2010.11.23 20:50

ส่วนหนึ่งของเทศกาล Netizen Marathon 2010

อาทิตย์ 28 พ.ย. 15:00 – 17:00
คุยกับสถาปนิก เรื่อง “คนกับพื้นที่” (เบญจมาส วินิจจะกุล และ ดวงฤทธิ์ บุนนาค)
@ ร้านหนังสือและกาแฟก็องดิด ถนนตะนาว ใกล้สี่แยกคอกวัว [แผนที่] [Facebook event]

จันทร์ 29 พ.ย. 09:00 – 17:00
เวทีวิชาการสาธารณะเพื่อพัฒนาคำถามวิจัย “ออนไลน์ศึกษา”
@ โครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตึกสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ชั้น 4 ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ [แผนที่]

ดูปฏิทินกิจกรรมอื่น ๆ ในเทศกาลเน็ตติเซ่นมาราธอน 2553 (Clip Kino, ReadCamp, ฯลฯ)
ที่ thainetizen.org/marathon

twitter hashtag: #nm10

ความเป็นมา

การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังเช่น เว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ระบุตำแหน่ง แผนที่นำทางอัตโนมัติ และเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิติประจำวันของคนจำนวนมาก ได้ทำให้ความคิดการจำแนก พื้นที่ส่วนตัว/พื้นที่สาธารณะ สื่อสารมวลชน/สื่อสารระหว่างบุคคล ออนไลน์/ออฟไลน์ โลกจริง/โลกเสมือน ในประเทศ/นอกประเทศ หรือ มนุษย์/เครื่องจักร ถูกท้าทายให้ทบทวนใหม่ รวมไปถึงมุมมองหรืออุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ซึ่งเปลี่ยนไป แต่การศึกษาประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อด้วยเครือข่ายสารสนเทศเช่นนี้ ในประเทศไทยพบว่าโดยมากยังจำกัดอยู่ในสาขาสื่อสารมวลชนและนิติศาสตร์
คณะผู้รับผิดชอบโครงการจึงจัดกิจกรรมการสัมมนาทางวิชาการเพื่อร่วมกันพัฒนาคำถามที่จำเป็นต่อการทำวิจัยในสหวิทยาการ “ออนไลน์ศึกษา” นี้ และนำเสนอคำถามที่ได้ต่อชุมชนวิชาการ ในลักษณะของ “เวทีวิชาการสาธารณะ” (public forum) เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตั้งคำถามที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีลักษณะของการสร้างเครือข่ายทางวิชาการประเด็นออนไลน์ศึกษาในลักษณะสหวิทยาการ คณะผู้จัดจึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งสาขาวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ รวมถึงนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดกิจกรรมทั้งในรูปแบบเวทีวิชาการในมหาวิทยาลัย และในรูปแบบและภาษาที่ไม่เป็นทางการนอกสถานศึกษา เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายขึ้น

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้ผู้ที่สนใจในประเด็นที่คาบเกี่ยวกับออนไลน์ศึกษาและวัฒนธรรมดิจิทัล ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองจากสาขาและความสนใจของตัวเอง
  2. เพื่อวางทิศทางวิจัยที่เป็นไปได้ด้านออนไลน์ศึกษาและวัฒนธรรมดิจิทัล พิจารณาคำถามที่จำเป็นต่อความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะในบริบทที่สัมพันธ์กับสังคมไทย
  3. เพื่อสร้างชุมชนและเครือข่ายทางวิชาการด้านออนไลน์ศึกษาและวัฒนธรรมดิจิทัล ในลักษณะสหวิทยาการ

รูปแบบกิจกรรม

กิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. การสนทนากลุ่ม (focus group) โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขานำเสนอประเด็นสนใจหรือร่างบทความ วิจารณ์ และแลกเปลี่ยน เพื่อพัฒนาคำถามวิจัยที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์ศึกษาและวัฒนธรรมดิจิทัล กิจกรรมจัดในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 27 และ 28 พฤศจิกายน 2553 ย่านถนนข้าวสาร
  2. การเสวนาอย่างไม่เป็นทางการ จากมุมมองพื้นที่และสถาปัตยกรรม เพื่อกลุ่มผู้สนใจทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เชื่อมกับออนไลน์ สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตประจำวันในเรื่องดังกล่าว กิจกรรมจัดในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2533 ที่ร้านหนังสือก็องดิด
  3. การสัมมนาเชิงวิชาการ เพื่อเสนอคำถามวิจัย “ออนไลน์ศึกษา” ในเวทีสาธารณะ โดยสังเคราะห์จากส่วนแรกและส่วนที่สอง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์วิจัยกับชุมชนวิชาการ และเพื่อพัฒนาศักยภาพการทำวิจัยในเรื่องดังกล่าว จัดในวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน+เอกสาร

(เอกสารประกอบเหล่านี้จัดให้เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความคิดในเวทีเท่านั้น ยังไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ กรุณาติดต่อผู้เขียนก่อนนำไปอ้างอิง เอกสารจำนวนหนึ่งเป็นเอกสารที่ผู้เขียนเคยเผยแพร่ที่อื่นแล้ว)

กำหนดการวันที่ 29 พ.ย.

  • ช่วงเช้า เสนอประเด็นจากวงสนทนากลุ่มวันที่ 27 และ 28 พ.ย.
  • ช่วงบ่าย “ซักถาม” ประเด็นต่อเนื่อง ในแบบ BarCamp

กิจกรรมสัมมนาเชิงวิชาการในวันที่ 29 พฤศจิกายน จะดำเนินทั้งวัน โดยช่วงเช้าจะเป็นการเสนอประเด็นจำนวนหนึ่งที่ได้เตรียมมาจากสองกิจกรรมก่อนหน้า และช่วงบ่าย จะเป็นการ “ซักถาม” ใน 2 ห้องย่อย
เพื่อให้การซักถามเป็นไปได้อย่างละเอียดและผู้เข้าร่วมสามารถเสนอประเด็นการพูดคุยได้ กิจกรรมช่วงบ่ายจะจัดในลักษณะ “อสัมมนา” (unconference) แบบบาร์แคมป์ (BarCamp) ดังนี้

  1. ในช่วงเช้าหรือระหว่างพักกลางวัน ผู้เข้าร่วมจะเขียนคำถามที่ต้องการซักถาม หรือประเด็นที่อยากให้ลงรายละเอียด หรือประเด็นใหม่ที่อยากเสริม ลงในกระดาษที่จัดเตรียมไว้ให้
  2. จากนั้นแปะกระดาษดังกล่าวของตัวเองที่ฝา
  3. เดินดูกระดาษของผู้เข้าร่วมคนอื่น ๆ ว่ามีคำถามหรือประเด็นอะไรที่เราก็อยากรู้เช่นกัน แล้วโหวต โดยการขีดคะแนนเพิ่มลงไปบนกระดาษ ||| ก่อนการสัมมนาช่วงบ่ายจะเริ่ม
  4. คำถามจำนวนหนึ่งที่ได้คะแนนโหวตอันดันต้น ๆ จะถูกเลือกมาจัดเป็นสองกลุ่ม ตามความใกล้เคียงของประเด็น และจะเป็นคำถามที่ใช้ในการสัมมนาย่อยช่วงบ่าย

ดาวน์โหลด: แนะนำงาน “ออนไลน์ศึกษา” | ปฏิทินเทศกาลเน็ตติเซ่นมาราธอน

Tags: , , , ,
%d bloggers like this: