2010.05.15 12:30
ตั้งวงคุยปัญหาปิดสื่อใต้ภาวะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นักวิชาการสื่อเตือนนักข่าวทวีตอะไรให้ระวัง เพราะอาจส่งผลในวงกว้าง ด้าน ผอ.ประชาไท ชี้ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คำถามต่อการกระทำต่างๆ ดูจะไม่เกิดขึ้น เชื่อสื่อใหม่มีวัฒนธรรมของตัวเอง ไม่ควรถูกครอบด้วยแนวคิดแบบสื่อเก่า
เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) จัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “เปิดใจพลเมืองเน็ตในภาวะ (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน และความอึดอัดในโลกออนไลน์” เมื่อวันที่ 13 พ.ค. เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม GM Hall อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พบหลัง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดกั้นเสรี แม้แต่เว็บรวมซอฟต์แวร์
พิสิต ศรีประสาททอง ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. เป็นต้นมา มีการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยให้อำนาจกระทรวงไอซีทีในการขออำนาจศาลเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ ซึ่งก็ยังมีปัญหาในเรื่องการตีความเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นความผิดที่กำกวมและบทลงโทษที่รุนแรงกว่ากฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป
อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้มีการข้ามขั้นของการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไป โดยมีคำสั่งไปที่กระทรวงไอซีทีให้สั่งไปที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี เพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ได้เลย โดยไม่ต้องขออำนาจศาล ซึ่งมีปัญหาคือ หลังจากคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ 36 เว็บในประกาศครั้งแรกแล้ว ก็ไม่เห็นประกาศลักษณะดังกล่าวอีกเลย ทั้งที่เมื่อไม่นานนี้ แหล่งข่าวจากไอซีทีระบุว่า มีเว็บไซต์ถูกปิดกั้นแล้วเกือบ 500 เว็บ นอกจากนี้ ตอนนี้ไม่ใช่เว็บที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่หรือปลุกระดมเท่านั้น แต่เว็บที่เป็นเครื่องมือในการเข้าไปดูเว็บเหล่านั้น รวมถึงเว็บที่รวบรวมซอฟท์แวร์เพื่อเข้าดูเว็บไซต์เหล่านั้นก็ถูกปิดไปด้วย
ในนามของ “ความฉุกเฉิน” คำถามก็หายไป
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท แสดงความเห็นว่า ถึงไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากรัฐบาลหรือผู้บริหารประเทศต้องการใช้อำนาจทางใดทางหนึ่งในการปิดกั้น เราก็เห็นว่าการปิดกั้นนั้นเกิดขึ้นได้ แต่ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลับยิ่งไม่เกิดคำถามว่าสิ่งที่กระทำนั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร ตั้งคำถามว่ามีลักษณะของการยอมรับในการกระทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่
นอกจากนี้ กรณีเกิดกลุ่มต่างๆ ขึ้นในเครือข่ายทางสังคม น่าสนใจว่าอะไรจะเป็นเส้นแบ่งหรือระดับที่พอดี โดยยกตัวอย่างกรณีกลุ่ม Social Sanction หรือกลุ่ม ยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม ในเฟซบุ๊ค ซึ่งมีการส่งเสริมความเกลียดชัง เป็น hate speech แต่ส่วนตัวก็สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความเห็น จึงน่าคิดว่าอาจมีการตกลงกติกาที่เคารพกัน และดูแลกันเอง โดยที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องมาควบคุมได้หรือไม่
ไม่เห็นด้วย ใช้กรอบสื่อเก่าครอบสื่อใหม่
จีรนุช แสดงความเห็นต่อกรณีการใช้ทวิตเตอร์ของผู้สื่อข่าวว่า Social media คือสื่อใหม่ มีวัฒนธรรมใหม่ มีวิธีนำเสนอตัวตนใหม่ในแบบของมัน จึงอาจไม่แฟร์ที่จะเรียกร้องนักข่าวที่ใช้ทวิตเตอร์ ให้ทำหน้าที่เท่ากับสื่อแบบที่มีบรรณาธิการ โดยมองว่านั่นเป็นการใช้กรอบเก่าในการสื่อสารมากำกับสื่อใหม่ ทั้งที่เทคโนโลยีได้ช่วยให้เราทะลวงกรอบนั้นมาแล้ว
“เราเชื่อเรื่องความเท่ากันระหว่างผู้ส่งและผู้รับสาร เมื่อผู้รับสารผ่านทวิตเตอร์ก็วิเคราะห์มันผ่านการรับผ่านทวิตเตอร์ ไม่ได้เชื่อมันแบบข่าวที่ผ่านบรรณาธิการ” จีรนุชกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยว่าการทวีตด้วยชื่อของหน่วยงานสื่ออาจต้องระวัง เพราะมีบางครั้งที่ทวิตเตอร์ในนามองค์กรสื่อ ทวีตสิ่งที่ไม่ใช่ข่าว แต่เป็นความคิดเห็นหรือความรู้สึกออกมา อันนั้นจะมีปัญหา แต่หากเป็นชื่อนักข่าวตามด้วยชื่อสำนักข่าว องค์กรนั้นๆ ต้องตกลงกันว่าจะมีแนวทางอย่างไร
เตือนนักข่าว “ระวัง” ก่อนทวีต
มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเห็นว่า ปรากฎการณ์ใน social media เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้ แต่ในช่วงสงครามข่าวสารที่มีความขัดแย้งสูง ทำให้ไม่มีพื้นที่สีเทา มีแต่ขาวกับดำ ไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง ทั้งที่ข้อดีของ social media คือการมีข้อมูลที่หลากหลาย ไม่มีใครควบคุมได้เหมือนก่อน ประชาชนในพื้นที่ก็เป็นเหมือนผู้สื่อข่าวพลเมืองที่ให้ข้อมูลสะท้อนกลับมาได้
มานะ กล่าวถึงกรณีการใช้ทวิตเตอร์ของผู้สื่อข่าวว่า เดิมการทำข่าวต้องเช็คข้อมูลหลายขั้นตอน ก่อนที่ข่าวนั้นจะถูกนำเสนอ แต่ทวิตเตอร์ขึ้นกับวิจารณญาณของคนทวีต ซึ่งอาจเห็นข้อมูลด้านเดียว หากเป็นคนทั่วไป อาจไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นนักข่าว โดยเฉพาะที่มีชื่อองค์กรต่อท้าย จะต้องแยกให้ออกระหว่างข้อเท็จจริงกับความเห็น เช่น มีระเบิดยิงเข้าไปในที่ชุมนุม ก็รายงานเท่านั้น ไม่ใช่ตามด้วยการแสดงความเห็น หรือหากจะแสดงความเห็นจะต้องแยกให้ชัดว่า นั่นคือความเห็น เพราะอาจส่งผลต่อเนื่องตามมา โดยเฉพาะต่อภาพลักษณ์ขององค์กร
นอกจากนี้ เขากล่าวถึงกรณีของฐปณีย์ เอียดศรีไชย หรือ @thapanee3miti ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ด้วยว่า ถ้าเป็นข่าวปกติ คงไม่มีใครยอมให้เสนอเป็นข่าว เพราะยังไม่ได้ยืนยันข่าวแน่ชัด เธอเองก็ไม่ได้เห็นกับตาแต่ฟังมาจากตำรวจ ถ้าเป็นคนธรรมดาอาจทวีตได้ว่าตำรวจเล่า แต่เมื่อเป็นนักข่าว คนไม่ได้ติดตามเพราะเป็นคนธรรมดา แต่ติดตามเพราะเป็นนักข่าวที่มีสังกัด สิ่งที่พูดไปส่งผลได้ หรือกรณีของศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ ผู้สื่อข่าว อสมท. หรือ @sresuda ซึ่งทวีตภาพของทหารที่บาดเจ็บ ซึ่งวันถัดมาเขาเสียชีวิต สุดท้ายแล้วเธอได้ตัดสินใจลบภาพนั้นไป โดยเธอเล่าว่า ต่อไปถ้าเจอภาพเหตุการณ์ต้องคิดว่าจะเผยแพร่หรือไม่ เพราะในฐานะสื่อก็ควรมีจริยธรรมในการนำเสนอภาพ
“ขนบบางอย่างของนักข่าวดั้งเดิมอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้กับสื่อใหม่ แต่บางอย่างจำเป็นต้องเอามาใช้คุม เพราะว่าคุณยังทำงานหลายอย่าง นักข่าวปัจจุบันไม่ใช่ทำแค่ social media journalist แต่ยังเป็น traditional media ไปด้วยในตัว” อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์กล่าว
“สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่ความเห็น แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกเลือกใช้”
ด้านชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่ความเห็น แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกเลือกใช้ สำหรับตัวเอง ไม่กลัวความเห็น เพราะเชื่อว่า ต่อให้รู้ว่าเป็นความจริงหรือข้อเท็จจริงแล้วก็ยังต้องเปิดพื้นที่ให้ความคิดใหม่ๆ ความคิดเห็นจึงไม่น่ากลัว เราอาจถูกหลอกด้วยความเห็นไม่กี่ครั้งเราก็จะเติบโตได้ แต่ข้อเท็จจริงมันขังเราไว้
ชูวัส กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลจุฬาฯ ว่า การบุกเข้าไปของคนเสื้อแดงเป็นข้อเท็จจริง แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกเลือกใช้ นักศึกษาฝึกงานของประชาไทเห็นกับตาว่า อาคารที่เสื้อแดงบุกเข้าไปเป็นอาคารที่ไม่มีผู้ป่วยแล้ว รพ.จุฬาอาจจะเป็นกรณีที่หยิบความเป็นมนุษย์มาใช้ฟาดฟันเสื้อแดง ดังนั้น ถามว่าอะไรคือข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงถูกสื่อเลือกใช้ตามอคติและการเลือกข้างของตัวเองหรือไม่ หรือข้อเท็จจริงเป็นเครื่องมือทางจริยธรรมอันหนึ่งของวิชาชีพสื่อในการสร้างฐานันดรของตัวเองว่า ฉันเท่านั้นที่ผูกขาดซึ่งความจริง
สังคมที่มีวุฒิภาวะ คนรับสื่อคิดเองได้ ไม่ต้องปิดกั้น
ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ระบุว่า การพยายามปิดสื่อไม่ว่าออฟไลน์หรือออนไลน์นั้น สุดท้ายไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ในสหรัฐอเมริกา ช่วงที่นายโอบามาจะออกกฎหมายปฎิรูปด้านสุขภาพว่า สื่ออย่างฟอกซ์นิวส์เสนอข่าวต่อต้านโอบามา ปลุกระดมแทบไม่ต่างจากพีทีวี หรือเอเอสทีวี เช่นบอกว่าโอบามาเป็นคนต่างด้าว เป็นนาซี จนคนในทำเนียบขาวเองยังบอกว่า ฟอกซ์นิวส์ไม่ใช่สื่อแล้ว แต่ก็ไม่มีการปิดแต่อย่างใด นั่นเพราะสังคมที่มีวุฒิภาวะจะสามารถจัดการกับความเห็นต่างได้ คนจะพิจารณาได้ว่าจะเชื่อสื่อนั้นแค่ไหน
เขาวิจารณ์การปิดกั้นสื่อของคนเสื้อแดงด้วยว่า ทำให้คนอัดอั้นใจ และมาชุมนุมเยอะขึ้น เพราะหากเขาดูพีทีวีอยู่ที่บ้านได้ ก็คงไม่ออกมา รวมทั้งคลื่นวิทยุชุมชน เช่น คลื่น 106.80 ของคนเสื้อแดงนั้น ตอนนี้ก็ถูกปล่อยคลื่นแทรก เป็นเสียงหวีดๆ ดังรบกวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประวิตรกล่าวเชิงทีเล่นทีจริงว่า หรือว่าคลื่นวิทยุที่มีเสียงหวีดเช่นนี้ อาจจะเป็นคลื่นสื่อแดงในอุดมคติของ ศอฉ. ก็เป็นได้
Tags: Emergency Decree, press freedom, social media