Thai Netizen Network

ระดมคนไอทีถกอนาคตเน็ตปี 2020

คาดอีก10 ปี ลดช่องว่างการเข้าถึงข้อมูล หวังใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เตรียมวางกรอบการใช้อินเทอร์เน็ต ยื่นข้อเสนอรัฐบาล องค์กรอิสระ ภายใน ธ.ค.52…

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 ส.ค. 2552) เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) มูลนิธิหนังไทย และศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยอนาคตของสื่อหลายแขนงในประเทศไทย ระหว่างปี 2010-2020 ว่าจะมีลักษณะอย่างไร ภายใต้โครงการ จินตนาการปฏิรูปสื่อทศวรรษหน้า 2010-2020

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า จากข้อมูลปี 2551 ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ระบุว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีจำนวน 10 ล้านคน ขณะที่มีจำนวนประชากรประมาณ 63 ล้านคน โดยคาดการณ์ว่าปี 2020 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านคน เป็นทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป จึงต้องมีนโยบายเข้ามากำกับดูแลพฤติกรรมการใช้งานอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและไม่เกิดปัญหาตามมา

รองปธ.คปส. กล่าวต่อว่า ขณะนี้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีมากขึ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มแด็กที่ยังขาดความรู้เวลาโพสรูปลงในเว็บ เพราะรูปดังกล่าวจะอยู่ที่เว็บตลอดไป ทั้งนี้ จึงต้องมีนโยบายเสนอต่อรัฐบาล พรรคการเมือง และองค์กรอิสระ อย่างเหมาะสม เพื่อลดปัญหาสังคม โดยคาดการณ์ว่า 10 ปี ข้างหน้าจะนำไปสู่เทคโนโลยีที่มีความสร้างสรรค์

“ข้อเสนอเชิงนโยบายจะเปิดใจรับมือกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพื่อให้ใช้งานอย่างเท่าเทียมกัน ส่งผลให้เกิดความลงตัวในเสรีภาพและความรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยี การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องสนับสนุน โดยคาดว่ากลางเดือนธ.ค.2552 จะสรุปข้อเสนอ เตรียมให้นักการเมืองในการเลือกตั้งครั้งใหม่และภาคประชาสังคมและสาธารณะรับรู้ต่อไป” นางสาวสุภิญญา กล่าว

นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านไอที บริษัท สยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า การวิจัยเพื่อหาอนาคตของสื่ออินเทอร์เน็ตปี 2020 ใช้วิธีจัดโฟกัสกรุ๊ปของตัวแทนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตกว่า 20 คน อาทิ เว็บ Ubuntuclub.com นายพิชัย พืชมงคล กรรมการบริหาร บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผสมกับการใช้แบบสอบถามเพื่อรวบรวมความคิดเห็นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยตรง ว่ามองอนาคตของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร พร้อมทั้งร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นข้อมูลในการวิจัยต่อไป

ที่ปรึกษาด้านไอทีบ.สยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต กล่าวต่อว่าการรวมกลุ่มครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดานักอินเทอร์เน็ตร่วมศึกษาวิเคราะห์อันจะทำให้เกิดชุดความคิดเห็นที่ต่างกัน ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในหัวข้อที่กำหนด เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบรอดแบนด์ยังดีพอให้คนทั่วไปใช้ได้หรือไม่ ช่องว่างของคนที่ใช้ภาษาไทยและอังกฤษจะแคบหรือกว้างขึ้น และแนวโน้มการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

Exit mobile version