Thai Netizen Network

กลุ่มเน็ต-สื่อ รวมตัวเตรียมยื่นข้อเสนอรัฐฯต้านเว็บหมิ่น

เครือข่ายพลเมืองเน็ต-คปส-เครือข่ายต่อต้านเซ็นเซอร์ฯรวมกลุ่มแสดงจุดยืนนโยบาย ปราบโลกไซเบอร์ของภาครัฐ หวั่นกั้นเว็บหมิ่นจุดกระแสละเมิดเสรีภาพ

รายงาน ข่าวจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่า เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมหารือกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ ประเทศไทย (FACT) เพื่อแสดงจุดยืนการจับกุม ปราบปรามอินเทอร์เน็ต และวิทยุชุมชนของรัฐ

ทั้งนี้เนื่องจากภายหลังการประกาศนโยบายปราบปรามเว็บหมิ่น โดยการบล็อกเวบของกระทรวงไอซีที ส่งผลให้หลายฝ่ายแสดงกังวลถึงสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร

สฤณี อาชวานันทกุล ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ภาครัฐควรให้นิยามชัดเจนว่าอะไรคือ เว็บหมิ่น ซึ่งหากคลุมเครือจะส่งผลให้นโยบายการปิดกั้นเว็บไซต์ไม่ได้ผล เพราะยิ่งปิดเว็บคนยิ่งอยากรู้

นอกจาก นี้รัฐยังต้องกำหนดให้การปิดเว็บจะต้องขอหมายศาลให้เป็นขั้นตอนมาตรฐานสากล ไม่ใช่รัฐบาล กระทรวง หรือตำรวจเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบต่อละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สุนิตย์ เชรษฐา ตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ความเห็นว่า ถ้ากฏหมายไม่ชัดเจน ถูกใช้อย่างไม่เป็นธรรม หรือใช้ไม่ได้จริง อาจจะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว และตกเป็นเครืองมือทางการเมือง นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ใช้ข้อหาหมิ่นเป็นเครื่องมือในการใส่ร้ายกัน

ทั้งยังสร้างวัฒนธรรมที่อยู่บนความกลัว เกิดการโทษกันไปโทษกันมา

“เป็นโอกาสดีที่เรามีรัฐบาลใหม่ แทนที่จะโฟกัสเรื่องการจัดการเว็บหมิ่น ควรเน้นเรื่องเปิดเวที ให้ทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง กฏหมายและ กำหนดขอบเขตที่ชัดเจนมากกว่า”

ด้าน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า รัฐควรต้องแยกระหว่างอาชญกรรรมทางคอมพิวเตอร์ ออกจากสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร

ทั้งหากรัฐมีนโยบายปราบปรามอย่างจริงจัง ก็อาจจำเป็นต้องมีศาลพิเศษ หรือสร้างเรือนจำเพิ่ม เพื่อรองรับเรื่องนี้ เพราะในอนาคตจะมี “cyber-dissidents” หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ แล้วแสดงออกในโลกไซเบอร์มากขึ้นจนจับกุมไม่ไหว

เธอแสดงความกังวลว่า แนวโน้มดังกล่าวจะเกิดขึ้นในประเทศที่ประชาธิปไตยอ่อนแอ

จากสถิติของ หน่วยงาน Committee to Protect Journalist (CPJ) พบว่า 45 % ของนักข่าวที่ติดคุกทั่วโลกเป็นบล็อกเกอร์, ผู้สื่อข่าวของเว็บไซด์ หรือบรรณาธิการข่าวออนไลน์ นักข่าวออนไลน์เป็นกลุ่มอาชีพที่ติดคุกมากที่สุดเป็นครั้งแรก

ขณะที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเกือบ 14 ล้านคน ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีพลัง และอาจนำไปสู่การต่อต้าน กลายเป็นคลื่นใต้น้ำ หรือพลังเงียบ ซึ่งรัฐบาลต้องให้ความระมัดระวังและใช้ความละเอียดอ่อนในการดำเนินงาน

ส่วนประเด็น การแก้ไข พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ควรต้องแก้ไขร่างกฏหมายให้รองรับสิทธิของพลเมืองให้มากกว่าตามนโยบายที่แถลง ไม่ใช่ออกกฏหมายมีเนื้อหาถดถอยกว่าร่างที่ผ่านโดย สนช. ซึ่งเป็นองค์คณะที่มาจากการรัฐประหาร

พร้อมกันนี้ซีเจ ฮิงเก จากเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) กล่าวว่า การปิดกั้นเว็บไซต์โดยไม่ผ่านศาล ถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นการปิดเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ส่วนใหญ่ที่ไม่มีคำสั่งศาล ก็ถือว่าผิดกฏหมาย ซึ่งปัจจุบันข้อมูลจากกระทรวงไอซีทีระบุว่า ปิดเว็บแล้ว 2,300 เว็บไซต์ และจะปิดอีกต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลว่าเป็นเว็บหมิ่น

ส่วนกรณีที่ไอซีทีประกาศเตรียมสร้าง “War room” เหมือนเป็นการประกาศสงคราม ที่อาจก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัว เทียบเท่าได้กับ การประกาศสงครามต่อต้านก่อการร้ายของรัฐบาลทั่วโลก

ทั้งเขายังเชื่อว่า รัฐทำเรื่องนี้อย่างลับๆ โดยต้นทุนประชาชนเป็นคนจ่าย เนื่องจากกระทรวงไอซีทีจะใช้เงิน 80 ล้านบาทในการจัดตั้งวอร์รูม ซึ่งมองว่า เงินจำนวนนี้น่าจะไปทำอย่างอื่นได้ดีกว่า เช่น ดำเนินงานสร้างความสมานฉันท์สันติภาพในภาคใต้ หรือการสร้างการศึกษาบนอินเทอร์เน็ต

นายสุเทพ วิไลเลิศ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) กล่าวว่า การใช้กฎหมายความมั่นคง ปิดกั้นสถานีวิทยุชุมชนเป็นเรื่องทางการเมืองของรัฐบาลกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

แต่การนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้เพื่อยุติการสื่อสารย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของ ประชาชนทั่วไปด้วย ซึ่งประการสำคัญคือประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือเห็นต่างจาก รัฐบาลได้

พร้อมกันนี้ ทั้ง 3 องค์กรได้เตรียมยื่นขอเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวันอังคารที่ 13 มกราคม 2552 เวลา 8.00 น. ก่อนการประชุม คณะรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาดังนี้

  1. ให้รัฐบาลมีแนวทางผลักดันให้เกิดกลไกการกำกับดูแลกันเอง ทั้งวิทยุชุมชนและกลุ่มประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดเกณฑ์ที่ชัดเจนทั้งในเรื่องความมั่นคง และกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

  2. การปรับแก้กฎหมายสื่อต้องเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมอย่าง กว้างขวาง ทั้งการแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี 2550 เพื่อให้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

Exit mobile version