พลเมืองเน็ตตั้งวงสร้างกติกาใหม่โลกไซเบอร์

2009.05.14 11:37

หวังสร้างบรรทัดฐาน พร้อมปรับวัฒนธรรมบนโลกไซเบอร์ ด้วยการปลูกฝังมารยาทและข้อควรปฏิบัติชาวเน็ตให้ขึ้นใจ หลายฝ่ายประกาศตัวเป็นแนวร่วม ขานรับกิจกรรม-แลกเปลี่ยนความเห็น เชื่อกำหนดให้เป็นรูปธรรมได้ไม่ยาก…

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 พ.ค.) เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาในหัวข้อ “กติกาพลเมืองเน็ต” โดยงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักวิชาการด้านสังคมและกฎหมาย ตัวแทนจากภาคประชาชน และผู้ประกอบการค้าพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ ร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น เพื่อนำกระบวนการทางความคิดที่ได้ ไปพัฒนาและสร้างกระบวนการทำงานที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ผู้สื่อข่าว รายงานต่อว่า ภายในงานเสวนาดังกล่าวได้นำ “กฎหลักของมารยาทเน็ต” ที่คัดลอกมากจากหนังสือ มารยาทเน็ต (Netiquette) ของ เวอร์จิเนีย เชีย โดยนำกฎและมารยาทที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรปฏิบัติบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จำนวน 10 ข้อ ที่เป็นหลักการขั้นพื้นฐานการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีภายในสังคมออนไลน์ ทั้งในส่วนของผู้ใช้และผู้ที่มีอำนาจหรือหน้าที่ในการดูแลความเหมาะสมบนเว็บไซต์

นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความรู้และแนวปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญ นักกฎหมาย ผู้ประกอบการ และตัวแทนจากภาคประชาชน ในการจัดการพลเมืองบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยการนำสถานการณ์ ปัญหา โครงสร้างขั้นพื้นฐาน และลักษณะเครือข่ายสังคม มาแลกเปลี่ยนความเห็น ผ่านเวทีแสดงความคิดสาธารณะเชิงวิชาการ ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนากฎหมายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอซีที

อาจารย์ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวฯ กล่าวต่อว่า ผู้ร่วมงานได้แสดงความเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของตนเอง ทำให้เกิดแนวความคิดที่หลากหลาย แม้ในขณะนี้ จะยังไม่เกิดการตกผลึกทางความคิดอย่างแท้จริง คณะดำเนินงานจะได้จัดให้มีการเสวนาขึ้นอีกครั้ง ภายในเดือนมิถุนายน เพื่อนำแนวคิดที่ได้ไปสานต่อและพัฒนาให้เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ จากข้อสรุปหลัก 5 ข้อ สู่การ คือ

1. การนิยามเครือข่าย
2. กติการพื้นฐานในการดูแลชุมชนอินเทอร์เน็ต
3. กติกาในการจัดการทรัพย์สิน
4. การดูแลความสงบเรียบร้อยบนเว็บไซต์ และ
5. การบังคับใช้และสนับสนุนให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลง

Tags: , ,
%d bloggers like this: