(4 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเืทศประจำประเทศไทย ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน และแอนดรูว์ วอล์กเกอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยระบุว่า นักวิชาการและบุคคลสำคัญทั่วโลกกว่า 50 คน ร่วมลงนามในจดหมายเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรีของไทย เพื่อเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จดหมายฉบับนี้มีขึ้นหลังจากเกิดกรณีฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพติดต่อกันหลายคดีในประเทศไทย รวมทั้งความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทยที่ต้องการเข้าไปควบคุมและสั่งห้ามการถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในอินเทอร์เน็ต
โดยจดหมายฉบับนี้ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้:
-
โปรดยุติการพยายามสร้างมาตรการกดดันปราบปรามที่เข้มงวดยิ่งกว่านี้ ทั้งต่อปัจเจกบุคคล เว็บไซต์และการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ
-
โปรดพิจารณาข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ตกเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคุกคามผู้อื่น และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายด่างพร้อยต่อชื่อเสียงของประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์บนเวทีสากลยิ่งไปกว่านี้
-
โปรดพิจารณายกเลิก-ถอนฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้ และดำเนินการเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องโทษที่ถูกตัดสินภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก่อนหน้านี้ เนื่องจากคนเหล่านี้ตกเป็นผู้ต้องหาเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น ทั้ง ๆ ที่การแสดงความคิดเห็นไม่ควรเป็นอาชญากรรม
จดหมายฉบับนี้ยังกล่าวด้วยว่า “การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันอย่างพร่ำเพรื่อ รังแต่จะบ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตย” อีกทั้งยังยั่วยุให้เกิด “กระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และประเทศไทย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ”
ผู้ลงนามในจดหมายฉบับนี้มีอาทิ:
-
ผู้นำระดับโลกในด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมือง เช่น ลอร์ดแอริก เอฟเบอรี (Lord Eric Avebury), ดร. แคโรไลน์ ลูคัส (Dr. Caroline Lucas), วุฒิสมาชิกฟรานเชสโก มาร์โตเน (Senator Francesco Martone), สมิทู โคธารี (Smitu Kothari), วอลเดน เบลโล (Walden Bello)
-
นักวิชาการระดับแนวหน้าผู้มีชื่อเสียงในวงการวิชาการหลากหลายสาขาทั่วโลก เช่น นอม ชอมสกี (Noam Chomsky), สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall), อรชุน อัปปาดูรัย (Arjun Appadurai), เจมส์ สก็อตต์ (James C. Scott), อารีฟ เดอลิก (Arif Dirlik), สแตนลีย์ แทมไบยาห์ (Stanley Tambiah), อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ (Immanuel Wallerstein) และอีกมากมายหลายคน
-
สมาชิกหลายท่านของสมาคมราชบัณฑิตยสถานอังกฤษ (The British Academy) และสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Arts and Sciences)
-
ประธาน อดีตประธานและผู้นำของสมาคมวิชาการทรงเกียรติคุณในระดับสากลหลายแห่ง เป็นต้นว่า สมาคมเอเชียศึกษา (Associations for Asian Studies), สมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association), สมาคมสังคมวิทยาอเมริกัน (American Sociological Association), สมาคมเอเชียศึกษาแห่งออสเตรเลีย (Asian Studies Association of Australia) ฯลฯ
-
นักวิชาการด้านกฎหมายชั้นนำ อาทิเช่น อดีตผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice), อดีตประธานสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งนักวิชาการชั้นนำด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน
-
นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงระดับสากล ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา วรรณคดี ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ยาวนานในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้
โดยขณะนี้กำลังมีการรวบรวมรายชื่อเพิ่มเติม จดหมายเปิดผนึกจะยื่นต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน ผู้มีความประสงค์จะร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก สามารถส่งชื่อ, ยศ/ตำแหน่ง/งาน และสังกัด มาที่ “ผู้ประสานงาน” คนใดคนหนึ่งดังต่อไปนี้
Andrew Walker, Senior Fellow, Research School of Pacific and Asian Studies, The Australian National University, Canberra, ACT 0200, Australia. andrew.walker@anu.edu.au
Jim Glassman, Associate Professor, Department of Geography, University of British Columbia, 217 – 1984 West Mall, Vancouver, BC V6T 1Z2 Canada. nmsslg@yahoo.ca
Larry Lohmann, The Corner House, Station Road, Sturminster Newton, Dorset DT10 1YJ, United Kingdom. larrylohmann@gn.apc.org
Thongchai Winichakul, Professor, Department of History, University of Wisconsin-Madison, Madison, Wisconsin 53706, USA. twinicha@wisc.edu
Adadol Ingawanij, Post-doctoral Researcher, Centre for Research and Education in Arts and Media, University of Westminster, Harrow Campus, UK. M.Ingawanij@westminster.ac.uk
เว็บไซต์ New Mandala http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala จะเป็น “หน้าต่าง” ให้แก่การรณรงค์ครั้งนี้ และจะนำเสนอข่าวสารและข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าของการรณรงค์เป็นระยะ ๆ
(จดหมายเปิดผนึกที่จะยื่นในเดือนมีนาคม/เมษายน 2552)
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สำนักนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล
กรุงเทพฯ ประเทศไทย โทรสาร: 011-662-629-8213เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ในฐานะนักวิชาการและผู้สังเกตการณ์ที่สนใจในสถานการณ์ของประเทศไทย เรามีความวิตกอย่างยิ่งเกี่ยวกับการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อชาวไทยและชาวต่างประเทศภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นในระยะไม่นานมานี้ เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยนำไปสู่ความเสื่อมถอยลงของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันอย่างพร่ำเพรื่อ รังแต่จะบ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตย การดำเนินคดีต่อนักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการและประชาชนทั่วไป เพียงเพราะข้อกล่าวหาว่าทัศนะและการกระทำของคนเหล่านี้เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เท่ากับทำลายบรรยากาศการถกเถียงอย่างเปิดกว้างในประเด็นสาธารณะที่สำคัญ ๆ นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นอันตรายของการอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไม่ระมัดระวัง แทนที่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะเป็นไปเพื่อปกป้องพระเกียรติยศ กลับยิ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และประเทศไทย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอแนะมาหลายครั้งแล้วว่า ควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้แต่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เคยมีพระราชดำรัสว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ เรามีความวิตกว่า แทนที่จะรับฟังความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ รัฐบาลของท่านอาจใช้กฎหมายนี้เพื่อกดดันยับยั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน กระทั่งมีสมาชิกบางคนในรัฐบาลของท่านออกมาเรียกร้องให้ใช้บทลงโทษที่หนักกว่าเดิมภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยทั้งหมดนี้กระทำลงไปในนามของการปกป้องสถาบันกษัตริย์
ประสบการณ์ในหลาย ๆ ประเทศพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีแต่ความจริง ความโปร่งใส การถกเถียงอย่างเปิดกว้างของสาธารณชน และกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น จึงจะสามารถแปรเปลี่ยนความขัดแย้งทางความคิดให้กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์และสันติวิธี การกดดันยับยั้งความคิดไม่เคยคลี่คลายปัญหาใด ๆ ได้ แต่กลับจะยิ่งสร้างความเสื่อมพระเกียรติมากกว่าเฉลิมพระเกียรติสถาบันกษัตริย์
ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เราจึงขอให้ ฯพณฯ ท่านและรัฐบาลโปรดพิจารณาข้อเรียกร้องดังนี้
- โปรดยุติการพยายามสร้างมาตรการกดดันปราบปรามที่เข้มงวดยิ่งกว่านี้ ทั้งต่อปัจเจกบุคคล เว็บไซต์และการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ
- โปรดพิจารณาข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ตกเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคุกคามผู้อื่น และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายด่างพร้อยต่อชื่อเสียงของประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์บนเวทีสากลยิ่งไปกว่านี้
- โปรดพิจารณายกเลิก-ถอนฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้ และดำเนินการเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องโทษที่ถูกตัดสินภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก่อนหน้านี้ เนื่องจากคนเหล่านี้ตกเป็นผู้ต้องหาเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น ทั้ง ๆ ที่การแสดงความคิดเห็นไม่ควรเป็นอาชญากรรม
ขอแสดงความนับถือ
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ร่วมลงนาม (บางส่วน)
*James C. Scott – ศาสตราจารย์ เจมส์ ซี. สก๊อตต์
มีงานเขียนสำคัญหลายชิ้น เช่น The Moral Economy of the Peasant (1990), Weapons of the Weak (1985), Seeing Like a State (1998) เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการศึกษาสังคมชนบท มหาวิทยาลัยเยล สมาชิกของสถาบันการศึกษาชั้นสูงของมหาวิทยาลัยปริ๊นส์ตัน และ Wissenschaftskolleg zu Berlin ประเทศเยอรมันเป็นประธานของสมาคมเอเชียศึกษาระหว่างปี 2540-41 และสมาชิกของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน
*Charles F. Keyes – ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์
นักมานุษยวิทยาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา อดีตประธานสมาคมเอเชียศึกษา
*Craig J. Reynolds – เคร็ก เจ. เรย์โนลส์
นักประวัติศาสตร์ที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการไทยและนานาชาติ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ไทยศึกษา ออสเตรเลีย ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
Robert Albritton – ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต อัลบริทตัน
แห่งมหาวิทยาลัยมิสสิสซิปปี้ สหรัฐอเมริกา เชี่ยวชาญด้านการเมืองอเมริกาและนโยบายสาธารณะ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัลบริทตันมีโครงการทางวิชาการเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยร่วมกับสถาบันประชาธิปกหลายโครงการ
Barbara Watson Andaya – ศาสตราจารย์ บาบาร่า วัตสัน อันดายา
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยฮาวาย อดีตประธานสมาคมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
*Arjun Appadurai – อรชุน อัปปาดูรัย
นักคิดและปัญญาชนคนสำคัญทางด้านโลกาภิวัตน์และภาวะสมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ต่อมาเขาย้ายมาเป็นอธิการบดีของ the New School University ในนิวยอร์ค
*Lord Eric Avebury – ลอร์ดเอริค เอฟเบอรี
สมาชิกสภาขุนนาง (สภาสูง) แห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 ลอร์ด เอฟเบอรีเป็นนักการเมืองจากพรรคเสรีประชาธิปไตย และได้รับแต่งตั้งจากรัฐสภาฯให้ดูแลด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เช่น ในประเทศติมอร์ตะวันออก อินโดนิเซีย ทิเบต เปรู ฯลฯ
Peter F. Bell – ปีเตอร์ เอฟ. เบลล์
อดีตผู้อำนวยการสภาการศึกษาเศรษฐกิจ รัฐนิวยอร์ค เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์การวิจัยในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศในเอเซียตะวันออกฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย
*Walden Bello – ศาสตราจารย์ วอลเดน เบลโล
สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ เป็นผู้ก่อตั้งโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the Global South) ในประเทศฟิลิปปินส์และไทย เบลโล เขียนหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาในเอเซียหลายเล่ม รวมทั้งหนังสือเรื่อง “โศกนาฏกรรมสยาม”
Michael Burawoy – ศาสตราจารย์ ไมเคิล บูราวอย
ประธานสมาคมสังคมวิทยาอเมริกา และรองประธานคณะกรรมการสมาคมสังคมวิทยานานาชาติ
*Hilary Charlesworth – ศาสตราจารย์ ฮิลารี่ ชาร์ลส์เวิร์ธ
นักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์การยุติธรรมและการบริหารปกครองนานาชาติ
ชาร์ลส์เวิร์ธได้รับเชิญให้สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก เช่น ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค และมหาวิทยาลัยปารีส และเป็นประธานคนแรกของสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เธอได้รับรางวัล Goler T.Butcher Medal ปี พ.ศ. 2549 จากสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศของอเมริกาในฐานะ “ผู้มีบทบาทโดดเด่นในการพัฒนากฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล”
*Noam Chomsky – ศาสตราจารย์ นอม ชอมสกี
สำหรับคนจำนวนมาก เราอาจไม่ต้องแนะนำนักคิดผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จัก ชอมสกีคือนักวิชาการผู้ปฏิวัติวงการภาษาศาสตร์และปรัชญา ในอีกด้านหนึ่ง เขาคือนักวิจารณ์นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ นักคิดและนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยใหม่ นิตยสาร ไทมส์ เคยระบุว่าเขาเป็นนักวิชาการที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา งานเขียนของเขาถูกอ้างมากที่สุดในโลก แม้แต่ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซแห่งเวเนซุเอลา ยังหยิบหนังสือของเขามากล่าวยกย่องในสุนทรพจน์อันเผ็ดร้อนในการประชุมที่สหประชาชาติเมื่อ 2 ปีก่อน
Arif Dirlik – ศาสตราจารย์ แอริฟ เดอร์ลิค
นักประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาชื่อดังทางด้านจีนศึกษา ต่อมาเขาหันมาสนใจเรื่องโลกาภิวัตน์และวัฒนธรรม อดีตผู้อำนวยการศูนย์ทฤษฎีวิพากษ์และข้ามชาติศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา
*John Dugard – ศาสตราจารย์ จอห์น ดูการ์ด
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ดูการ์ดดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ.2545-2551 และเป็นผู้รายงานพิเศษของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี พ.ศ.2544-2551
Grant Evans – แกรนท์ อีแวนส์
นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทความล่าสุดของเขาเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้สังเกตุการณ์ในชุมชนนานาชาติที่ติดตามสถานการณ์ประเทศไทย
Edward Friedman – ศาสตราจารย์ เอ็ดเวิร์ด ฟรีดแมน
นักรัฐศาสตร์ที่เชียวชาญด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ และประชาธิปไตย มีงานเขียนทางวิชาการหลายเล่ม ผลงานล่าสุดเรื่อง “ยักษ์แห่งเอเซีย: เปรียบเทียบจีน กับ อินเดีย”
Susan Stanford Friedman – ศาสตราจารย์ ซูซาน สแตนฟอร์ด ฟรีดแมน
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา
*Stuart Hall – ศาสตราจารย์ สจ็วต ฮอลล์ (Stuart Hall)
อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร New Left Review หนังสือพิมพ์ The Observer ยกย่องให้ฮอลล์เป็น “หนึ่งในนักทฤษฎีด้านวัฒนธรรมระดับแนวหน้าของประเทศอังกฤษ” เขายังเป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสถานอังกฤษ
Gillian Hart – ศาสตราจารย์ จิลเลี่ยน ฮาร์ต
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเมือง ภูมิภาคศึกษาในอาฟริกาใต้ และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
Michael Hertzfeld – ศาสตราจารย์ ไมเคิล เฮิอร์ซเฟลด์
นักมนุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชี่ยวชาญด้านอัตลักษณ์วัฒนธรรมและไทยศึกษา เฮิอร์ซเฟลด์ เคยเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการวิชาการของพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า
Kevin Hewison – ศาสตราจารย์ เควิน เฮวิสัน
อดีตประธานมูลนิธิเอเชียยตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ออสเตรเลีย และอดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง
Paul Hutchcroft – ศาสตราจารย์ พอล ฮัชซ์คร็อฟ
นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Sarah Joseph – ศาตราจารย์ ซาราห์ โยเซฟ
ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย เธอเขียนหนังสือกฎหมายหลายเล่ม รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
*Ira Katznelson – ศาสตราจารย์ไอร่า แคทซ์เนลสัน
นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อดีตประธานสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน, ประธานสมาคมรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ เป็นสมาชิกสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน และสมาคมนักปราชญ์อเมริกัน
Ben Kerkvliet – ศาสตราจารย์เบน เคิร์กวลีต
อดีตหัวหน้าภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
Ben Kiernan – ศาสตราจารย์เบน เคียร์แนน
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบเขมรแดง เป็นผู้ก่อตั้งโครงการศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา ซึ่งพัฒนามาเป็นโครงการศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มหาวิทยาลัยเยล ที่ครอบคลุมปัญหาความรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก
Smitu Kothari – สมิธุ โคธารี
บรรณาธิการวารสาร Lokayan (การสานเสวนาของประชาชน) ในอินเดีย เขามีบทบาทในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญญาชน-นักเคลื่อนไหวคนสำคัญของอินเดีย
Margaret Levi – ศาสตราจารย์มาร์กาเร็ท ลีไว
นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ สมาชิกของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน เคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน
*Caroline Lucas – แคโรไลน์ ลูคัส
นักการเมืองที่โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษ เธอเป็นหัวหน้าพรรคกรีนของอังกฤษและเวลส์ สมาชิกรัฐสภาแห่งยุโรป ในปี 2549 นิตยสาร The New Stateman ยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในสิบบุคคลสำคัญแห่งปี และในปีถัดมาได้รับการลงคะแนนจากผู้อ่านของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ The Observer ให้เป็นนักการเมืองแห่งปี
*Senator Francesco Martone – วุฒิสมาชิก ฟรานเชสโก มาร์โตเน
นักการเมืองอิตาลีที่มีบทบาทแข็งขันในปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของโลก เขาเป็นผู้ก่อตั้งและประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปธนาคารโลก มีบทบาทในในคณะกรรมาธิการถาวรหลายคณะ ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการกิจการต่างประเทศและการย้ายถิ่น, การคลัง, และทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อม มาร์โตเน่ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการของคณะกรรมาธิการพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
Duncan McCargo – ศาสตราจารย์ ดันแคน แม็คคาร์โก
จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ หนึ่งในนักวิชาการชั้นแนวหน้าในเรื่องอุษาคเนย์และการเมืองไทย งานเขียนที่สำคัญของเขา เช่น Network Monarchy of Bhumibol and His Proxiesงานเขียนชิ้นล่าสุดของเขาคือ Tearing Apart the Land เป็นบทวิเคราะห์วิกฤติการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
Frances Fox Piven – ศาสตราจารย์ แฟรนเชส ฟ็อกส์ พิเวน
มีบทบาทโดดเด่นทั้งในด้านวิชาการและกิจกรรมทางสังคม โดยเฉพาะในฐานะนักวิพากษ์ที่มีมุมมองอันเฉียบคมต่อระบบสวัสดิการสังคมในสหรัฐฯ ปัจจุบันเธอสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองนิวยอร์ค เธอได้รับรางวัลมากมายจากสมาคมด้านวิชาการและสังคมต่าง ๆ และเธอเคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมสังคมวิทยาอเมริกัน
*Anthony Reid – ศาสตราจารย์ แอนโทนี่ รีด
นักประวัติศาสตร์ที่มีงานเขียนมากที่สุดคนหนึ่ง หลังจากเกษียณจากงานที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ลอสแองเจลีส รีดส์ได้รับเชิญให้เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันวิจัยแห่งเอเชีย ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เขายังได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสถานอังกฤษ และได้รับรางวัลฟูกูโอกะในปี 2545
Dr. Mohamed Suliman – ดร. โมฮัมเหม็ด สุไลมาน
นักวิชาการชาวซูดานที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศอังกฤษ เขาเป็นประธานของสถาบันเพื่อทางเลือกของชาวแอฟริกันในอังกฤษ เขาเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับความขัดแย้งในซูดาน, ดาร์ฟูร์ และที่อื่น ๆ
David Szanton – เดวิด แชนตัน
เคยเป็นผู้อำนวยการโครงการอาณาบริเวณศึกษาและนานาชาติ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์กลีย์
*Stanley J. Tambiah – ศาสตราจารย์ สแตนลีย์ เจ. แทมไบยาห์
นักมานุษยวิทยาชื่อก้องโลกที่มีผลงานเกี่ยวกับประเทศไทย ศรีลังกา ชนชาติทมิฬ รวมทั้งศาสนาและการเมือง เขาได้รับรางวัลและคำประกาศเกียรติคุณจากสถาบันต่าง ๆ มากมาย เช่น รางวัลบัลซัน (the Balzan), รางวัลฟูกูโอกะ, สถาบันมานุษยวิทยาในพระบรมราชินูปถัมภ์ของประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์ และได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสถานอังกฤษ
Andrew Walker – แอนดรูว์ วอล์คเกอร์
นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย สนใจเกี่ยวกับการค้าชายแดนระหว่างไทย ลาว และจีนใต้ รวมทั้งปัญหาการพัฒนาชนบท การจัดการสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือของไทย เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ The New Mandala อันเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ได้รับความนิยมจากปัญญาชนในอุษาคเนย์อย่างมาก
*Immanuel Wallerstein – ศาสตราจารย์ อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์
เจ้าของทฤษฎี “ระบบโลก” เขาได้รับเชิญให้สอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกและได้รับรางวัลและตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณจากสถาบันต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งดำรงตำแหน่ง เช่น ผู้อำนวยการของวิทยาลัยการศึกษาชั้นสูงด้านสังคมศาสตร์แห่งปารีส, ประธานสมาคมสังคมวิทยานานาชาติ, ผู้อำนวยการศูนย์เฟอร์นันด์ บรอเดลเพื่อการศึกษาเศรษฐศาสตร์ ในปี 2546 สมาคมสังคมวิทยาอเมริกันได้มอบรางวัลนักวิชาการที่ผลิตผลงานดีเด่น (the Career of Distinguished Scholarship Award) ให้แก่วอลเลอร์สไตน์
Thomas Wallgren – ศาสตราจารย์ โทมัส วอลล์เกร็น
หัวหน้าภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ นักปรัชญาและนักกิจกรรมเพื่อสังคม เขายังเป็นประธานสถาบันเครือข่ายเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยทั่วโลก
Michael Watts – ศาสตราจารย์ ไมเคิล วัทส์
อดีตผู้อำนวยการสถาบันการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ , ศูนย์แอฟริกันศึกษา, โครงการนักวิจัยสันติภาพของโรตารี, และโครงการศึกษาด้านการพัฒนา
Thongchai Winichakul – ศาสตราจารย์ ธงชัย วินิจจะกูล
แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน เขาสนใจประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย หนังสือของธงชัย Siam Mapped ได้รับรางวัลแฮรี เบนดาของสมาคมเอเชียศึกษาในปี 2538 เขายังเป็นสมาชิกของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน ธงชัยเป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษาในช่วง 6 ตุลาคม 2519