ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนสรุปเสรีภาพเน็ตปี 2551

2009.01.29 12:22

องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน สรุปสถานการณ์เสรีภาพสื่อ 2551 ระบุเอเชีย แปซิฟิก มาเกร็บ (แอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ) และตะวันออกกลาง ยังคงเป็นพื้นที่อันตรายที่สุดสำหรับสื่อ และอินเทอร์เน็ตคือสมรภูมิใหม่ในการปิดกั้นควบคุม

องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน หรือ Reporters Without Borders (RSF) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศไม่แสวงกำไรที่เคลื่อนไหวรณรงค์ประเด็นเสรีภาพสื่อ จะจัดทำรายงานสถานการณ์เสรีภาพสื่อเป็นประจำทุกปี ทั้งรายงานภาพรวมทั่วโลก ตามภูมิภาค และตามประเทศ โดยปี 2551 ที่ผ่านมาได้สำรวจใน 98 ประเทศ โดยครั้งนี้ได้แยกเสรีภาพอินเทอร์เน็ตออกมาเป็นการเฉพาะด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีบล็อกเกอร์ถูกจับ 59 ราย และถูกฆ่าหนึ่งราย

สื่อโดยรวม (ในวงเล็บคือจำนวนในเอเชียแปซิฟิก):

  • 60 (26) นักข่าวถูกฆ่า
  • 673 (60) รายถูกจับ
  • 929 (106) รายถูกทำร้ายร่างกายหรือข่มขู่
  • 29 (0) รายถูกลักพาตัว
  • 353 (70) ช่องสื่อถูกเซ็นเซอร์

อินเทอร์เน็ต:

  • 1 บล็อกเกอร์ถูกฆ่า
  • 59 รายถูกจับ
  • 45 รายถูกทำร้ายร่างกาย
  • 1,740 เว็บไซต์ถูกปิดกั้น, ปิดตัว หรือพักให้บริการ

RSF ชี้ว่ากิจกรรมการควบคุมปิดกั้นนั้นเพ่งเล็งมาที่อินเทอร์เน็ตและแวดวงบล็อก (blogosphere) มากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถูกตรวจตราสอดส่องและลงโทษ และปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่มีคนถูกฆ่าระหว่างลงมือปฏิบัติการ “นักข่าวพลเมือง” โดยผู้ที่ถูกฆ่าเป็นนักธุรกิจชาวจีนรายหนึ่งที่กำลังถ่ายวิดีโอการเดินประท้วง และผู้ที่ฆ่าเขาก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น

บทสรุป 2551ภาพรวมทั่วโลกเอเชีย-แปซิฟิกประเทศไทย

สำหรับส่วนของประเทศไทย นอกจากการสรุปสถานการณ์ทั่วไปในช่วงวิกฤตการเมืองและการรัฐประหาร 2549 แล้ว รายงานยังได้เน้นถึงการควบคุมสื่อออนไลน์ในประเทศไทย โดยกล่าวถึง การจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถขอดูข้อมูลดังกล่าวได้โดยไม่มีกฎหมายใด ๆ ตรวจสอบ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณีการปิดกั้นเว็บไซต์ YouTube เป็นเวลากว่าสี่เดือน (เม.ย.-ส.ค.) และนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการพิจารณาเนื้อหาบนสื่อต่าง ๆ รวมทั้งอินเทอร์เน็ต ในคณะกรรมการนี้มีตัวแทนจากรัฐบาลและภาคอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมถึงกูเกิลและไมโครซอฟท์ด้วย

ในฟากของการเฝ้าตรวจตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ต บล็อกเกอร์รายหนึ่งที่ใช้ชื่อ “พระยาพิชัย” ถูกควบคุมตัวจากมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอม ด้วยความผิด “หมิ่นประมาท” และ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” แต่ท้ายที่สุดข้อหาต่าง ๆ ก็ถูกถอน เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามเขาจะต้องถูกเฝ้าติดตามไปอีกสิบปี และจะต้องโทษจำคุกทันทีที่โพสต์ข้อความทางการเมืองใด ๆ อีก ซึ่งนี่สอดคล้องกับความเห็นของ RSF ที่ให้ไว้ในบทสรุปรายงานว่า ด้วยอิทธิพลและศักยภาพของอินเทอร์เน็ตที่ขยายตัวขึ้น รัฐบาลจำนวนหนึ่งจะมองมันเป็นภัยต่อความมั่นคง และจะแสวงหาเครื่องมือใหม่ ๆ มาเพื่อใช้ตรวจตราอินเทอร์เน็ตและสืบสาวร่องรอยข้อมูลออนไลน์

(ขอบคุณเว็บไซต์ Blognone เอื้อเฟื้อข่าว – สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Tags: , , , ,
%d bloggers like this: