สมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต ท้วงนโยบายวอร์รูมไอซีที เรียกร้องรัฐเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายร่วมพูดคุย หาทางออก แทนการประกาศศึก
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ และบล็อกเกอร์ (www.fringer.org) สมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งคำถามท้วงติงถึงมาตรการล่าสุดของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ว่า แทนที่ภาครัฐจะมุ่งใช้มาตรการที่ลิดรอนเสรีภาพแบบขาว-ดำ โดยไม่เคารพในวิจารณญาณของประชาชนและในทางที่ไม่โปร่งใส รัฐควรหันไปเน้นเรื่องการสร้างบรรทัดฐาน ความชัดเจน และความโปร่งใสในการบังคับใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เช่น ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเพื่อตกลงกันว่า นิยามของคำว่า "หมิ่นฯ" ควรอยู่ที่ใด เว็บที่เข้าข่าย "เว็บหมิ่นฯ" มีลักษณะอย่างไร วิธีปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควรเป็นเช่นไรในทางที่จะรับประกันได้ว่า สิทธิส่วนบุคคลของบุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องจะไม่ถูกละเมิด
"ในการปิดเวบตนเองคิดว่าอย่างไรก็ควรต้องขอหมายศาลตามมาตรฐานสากล อีกทั้งรัฐควรตระหนักในความไร้ประสิทธิภาพและไร้ประสิทธิผลของมาตรการบล็อก ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรรัฐเพราะคนสามารถหลบไปใช้ proxy และวิธีการหลบเลี่ยงการปิดกั้นอื่นๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่วความไร้ประสิทธิภาพก็แสดงให้เห็นว่า การพยายามเข้าถึงข้อมูลนั้นเป็นธรรมชาติ ของคนท่องเน็ตที่ย่อมอยากมีเสรีภาพในการเข้าถึง ซึ่งรัฐไม่มีทางปิดกั้นได้สำเร็จ"
ด้านจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวประชาไท www.prachatai.com และสมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ความเห็นต่อกรณีเวบหมิ่นฯ ว่า ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจใหม่กับคำว่าเว็บหมิ่น ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่อาจเรียกได้ว่าเว็บไหนที่เป็นเว็บหมิ่นจริงๆ หากจะพิจารณาจากยูอาร์แอลที่ไอซีทีขอคำสั่งศาลปิด อาจจะเป็นว่ายูทูบ (ที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ) คือเว็บที่มีเนื้อหาที่เจ้าหน้าที่ได้ขอคำสั่งศาลในการปิดกั้นมากที่สุด
ขณะเดียวกันก็คงต้องเข้าใจว่า วิธีการที่จะสกัดเนื้อหาที่เป็นการหมิ่นจริงๆ ควรหาหนทางแก้ไขไปที่สาเหตุมากกว่าที่จะมาใช้วิธีสร้างบรรยากาศความกลัวและ ความหวาด ระแวง เพราะการกระทำในลักษณะเช่นนี้ยิ่งสร้างบรรยากาศของความอึดอัด ในที่สุดน่าจะยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันมากกว่าที่จะเป็นการปกป้อง
ในส่วนของนโยบายเร่งด่วนของภาครัฐ จีรนุช ในฐานะตัวแทนแครือข่ายพลเมืองเน็ต เสนอว่า ควรสร้างเวทีการสนทนาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ มากกว่าภาครัฐจะมาใช้วิธีแบบข่มขู่หรือประกาศศึก ไอซีทีอาจจะต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีการพูดคุย และนี่น่าจะเป็นหนทางที่สร้างสรรค์ในการแก้ปัญหามากกว่าจะ เร่งรีบใช้งบ 80 ล้านบาทไปกับเรื่องวอร์รูม
สฤณี กล่าวเสริมว่า ทางเครือข่ายมีแผนงานที่จะเจรจากับหน่วยงานรัฐ เพราะช่วงนี้อาจเป็นจังหวะดีที่จะเริ่มคุยกับตำรวจ เรื่องระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
"การ ปิดเนื้อหาบนเว็บ 2,000 กว่าหน้าเป็นการปิดเฉพาะไม่ให้คนไทยได้เข้าถึงเท่านั้น ในขณะที่คนที่ อื่นทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งไม่ได้เป็นการปกป้องพระเกียรติได้แท้จริงแต่อย่างใด"
ทั้งนี้เครือข่ายพลเมืองเน็ตจะยื่นหนังสือ และข้อเสนอต่อประเด็นดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีและกระทรวงไอซีที โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมในการปรับแก้กฏหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในเร็วๆ นี้
ที่มา: เครือข่ายพลเมืองเน็ตท้วงนโยบายวอร์รูมไอซีที, กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์, 8 ม.ค. 2552