นโยบายด้านเทคโนโลยีของบารัค โอบามา – SIU

2009.01.29 12:20

รายงานพิเศษโดย อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ Siam Intelligence Unit ถึงนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ บารัค โอบามา ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ โดยมีนโยบายจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความเปิดกว้าง เป็นธรรม โปร่งใส ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร อินเทอร์เน็ต และทรัพย์สินทางปัญญา ดังนี้ :

ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี ผ่านอินเทอร์เน็ตเสรีและสื่ออื่นๆ

  • ธำรงความเปิดกว้างของอินเทอร์เน็ต: สนับสนุนหลักการความเท่าเทียมของการส่งข้อมูลบนเครือข่าย (network neutrality) เพื่อรักษาข้อดีของอินเทอร์เน็ตเสรีเอาไว้
  • ส่งเสริมการแข่งขันของวงการสื่อ: สนับสนุนให้เจ้าของสื่อกระจายเสียงไม่กระจุกตัวเฉพาะแค่ในกลุ่มทุนบางกลุ่ม ส่งเสริมการพัฒนาสื่อใหม่ๆ เพื่อเป็นเวทีสำหรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และแยกแยะภารกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้เจ้าของสื่อกระจายเสียงที่ครอบครองความถี่อยู่แล้วทราบอย่างชัดเจน
  • ปกป้องเด็กและเยาวชน ไปพร้อมกับการรักษาสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ: มอบเครื่องมือและคำแนะนำให้กับบรรดาผู้ปกครอง เพื่อใช้ปกป้องภัยร้ายที่ลูกหลานของพวกเขาจะได้รับจากทีวีและอินเทอร์เน็ต แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีตาม ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขครั้งแรก เพิ่มบทลงโทษที่รุนแรง บังคับให้กฎหมายให้เคร่งครัดมากขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือระว่างภาคเอกชนและภาครัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อแยกแยะและจัดการกับผู้ประสงค์ร้ายต่อเด็กๆ ของเราโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ
  • ปกป้องความเป็นส่วนตัว: เพิ่มระดับการป้องกันข้อมูลส่วนตัวในยุคดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการละเมิดความเป็นส่วนตัวทั้งจากภาค รัฐและภาคธุรกิจ

สร้างประชาธิปไตยที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมของประชาชน

  • ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงรัฐบาลได้มากขึ้น: โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยสร้างความโปร่งใสของรัฐบาลที่ตรวจสอบได้ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนอเมริกาต่อการทำงานของรัฐบาล
  • เตรียมรัฐบาลให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21: ปฏิรูปรัฐบาลโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย พัฒนาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐบาลกลางและประชาชน ในขณะเดียวกันต้องรักษาความมั่นคงในเครือข่ายของเรา แต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Office – CTO) ภาครัฐคนแรก เพื่อเป็นผู้ประสานงานกลางระหว่างประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) และประธานเจ้าหน้าที่สารสนเทศ (CIO) ของหน่วยงานรัฐแต่ละแห่ง เพื่อให้หน่วยงานรัฐได้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับงานมากที่สุด และเรียนรู้ข้อดีข้อเสียจากหน่วยงานแห่งอื่น

วางโครงข่ายการสื่อสารที่ทันสมัย

  • โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งอนาคต: นำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่แท้จริงไปยังชุมชนทุกแห่งในอเมริกา โดยใช้วิธีปฏิรูปกองทุนพัฒนาโทรคมนาคม (Universal Service Fund) ผสมกับการจัดสรรคลื่นความถี่แบบใหม่ที่มีประสิทธิผล ระบบภาษีและเงินกู้แบบใหม่ที่จูงใจ เป้าหมายคืออเมริกาในฐานะผู้นำของประเทศที่มีอัตราส่วนผู้ใช้งาน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอเมริกา

  • ธำรงไว้ซึ่งตลาดเสรี: ส่งเสริมภาคธุรกิจและกฎระเบียบเพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถอยู่ได้ ผู้ที่อยากมีกิจการเป็นของตัวเองสามารถทำได้ง่าย และองค์กรขนาดใหญ่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันผู้ออกกฎระเบียบและผู้บริโภคทั่วไปต้องได้รับการคุ้มครองจากภาคเอกชนที่ละเมิดกฎ ทบทวนสภาพบังคับใช้กฎหมายผูกขาดเพื่อรักษาหลักการทุนนิยม
  • ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกาในต่างแดน: ทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกาจะต้องถูกปกป้องในตลาดต่างประเทศ และเน้นการทำงานร่วมกับมาตรฐานระดับนานาชาติที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เทคโนโลยีของเราสามารถเข้าแข่งขันได้กับตลาดอื่นๆ ในโลกทุกแห่ง

ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกาภายในประเทศ

  • ปรับปรุงและปฏิรูประบบลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร เพื่อความโปร่งใส-เปิดเผยของข้อมูลสาธารณะ แต่ก็ยังต้องช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญานั้นได้รับความเป็นธรรม
  • ปฏิรูประบบสิทธิบัตร: ตรวจสอบว่าระบบกฎหมายสิทธิบัตรของเรานั้นปกป้องสิทธิ์ของผู้คิดค้น แต่ไม่ไปทำลายความคิดสร้างสรรค์หรือความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน มอบทรัพยากรแก่สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า (Patent and Trademark Office – PTO) ให้มากขึ้น เปิดกระบวนการจดสิทธิบัตรเพื่อส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ลดความเสี่ยงจาการฟ้องร้องกันแบบไร้สาระ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ถ่วงรั้งนวัตกรรมของอเมริกาอยู่

เตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนอเมริกันสู่ศตวรรษที่ 21

  • สนับสนุนทุนเรียนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา: สร้างฐานข้อมูลออนไลน์สำหรับว่าที่นักวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพ ให้เข้าถึงข้อมูลความช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนที่มีอยู่ในสายงานวิจัย ทั้งจากภาครัฐ ภาคสาธารณะ และภาคเอกชน

ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาร้ายแรงที่ประเทศกำลังเผชิญ

  • ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยลงทุนในระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์: ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ ลงทุนปีละ 1 พันล้านดอลลาร์ในอีก 5 ปีข้างหน้าเพื่อพัฒนาระบบประกันสุขภาพของสหรัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมถึงประวัติการรักษาที่เป็นอิเล็กทรอกนิกส์ด้วย
  • ปรับปรุงโครงข่ายความปลอดภัยสาธารณะ: นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น บรอดแบนด์ และวิธีการสื่อสารแบบใหม่ๆ  มาพัฒนาระบบรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้าให้รับมือได้ทันท่วงทีมากขึ้น

อ่านรายงานฉบับเต็ม และนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอื่น ๆ ได้ที่ Siam Intelligence Unit

Tags: , ,
%d bloggers like this: