อภิสิทธิ์ เล็งรื้อ พรบ.ข้อมูลข่าวสาร

2009.01.29 15:47

"อภิสิทธิ์"ห่วงทีวี"คุยข่าว" ชี้นำ"อันตราย"

แนะองค์กรวิชาชีพแก้ไข เล็งรื้อพรบ.ข้อมูลข่าวสาร

นายกฯ เล็งรื้อ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ไม่เป็นไปตามคาดหวัง เผยคิดหนักอยากให้ช่องเอ็นบีทีเป็นทีวีสาธารณะ อยากให้แลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายมากกว่ามุ่งทำลายทางการเมือง ชี้รายการคุยข่าวอันตราย ชี้นำตั้งแต่คำพูดยันสีหน้า ยุองค์กรวิชาชีพเข้าไปแก้ไข จ้องสังคายนาวิทยุชุมชนให้กลับไปสู่เจตนารมณ์เดิม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายงานราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ "นโยบายและการผลักดันปฏิรูปสื่อของรัฐบาลอภิสิทธิ์" จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่สมาคมนักข่าวฯ เมื่อบ่ายวันที่ 13 มกราคม ว่า สิ่งที่คุกคามการทำงานของสื่อคืออำนาจรัฐและอำนาจทุน อำนาจรัฐเกิดจากความพยายามหรือความเชื่อว่าเมื่อยุคสมัยนี้เป็นสงครามข้อมูล ข่าวสาร ใครสามารถควบคุมข้อมูลข่าวสารก็สามารถชนะการต่อสู้ จึงเอาสื่อมาเป็นเครื่องมือ ทำให้เป็นปัญหามาโดยตลอด โดยเฉพาะสื่อของรัฐ ส่วนอำนาจทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ไปอยู่ในที่เดียวกันกับอำนาจรัฐ ยิ่งทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น เกิดการกดดันผ่านทุน แม้สื่อจะมีความคิดเชิงอุดมคติ แต่สื่อสารมวลชนก็คือธุรกิจ หนีความจริงได้ยาก การใช้อำนาจทุนในการกดดันเกิดผลกระทบเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าไปแทรกแซง หรือบิดเบือน

"มาตรการสำคัญๆ เราจะต้องมาดูทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน ในส่วนของอำนาจรัฐคือกฎหมายบางอย่างที่จะเอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพของสื่อต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เช่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ในฐานะที่เป็นคนเสนอกฎหมายเมื่อ 12-13 ปีที่ผ่านมา ก็พบความจริงว่า กฎหมายไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ วันที่มีการเสนอกฎหมายนั้นฝ่ายตรวจสอบไม่มีทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ฝ่ายค้านทำงานต้องใช้วิธีการแนวทางอื่น ไม่เห็นว่ากฎหมายนี้ใช้ได้ จึงเป็นประเด็นที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายนี้ล้ำหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 เพราะทำไว้ก่อน หากกฎหมายนี้เกิดทีหลังก็จะไม่เป็นปัญหา" นายกฯกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ถ้าเริ่มต้นจากการทำให้ข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นสิทธิของประชาชนที่จะต้อง รับรู้ ยกเว้นเหตุผลเฉพาะตามกฎหมาย และการปฏิรูปสื่อให้เข้มแข็ง ดีกว่าต้องมาตรวจสอบบนกฎหมายที่คิดว่าเป็นนโยบายที่สำคัญที่ต้องผลักดันคือ กฎหมายในแง่โครงสร้างสื่อของรัฐคือกฎหมายว่าด้วยวิทยุและโทรทัศน์และองค์กร กำกับคือ กสทช.เพราะเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2542-2543 มีปัญหามาตั้งแต่ต้น เพราะสื่อวิทยุและโทรทัศน์ไปพันกับกิจการโทรคมนาคม มีความเห็นเป็นสองฝ่ายว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน วันข้างหน้ามีความยากมากว่าจะดูเป็นสองเรื่องได้อย่างไร เช่น บริการข้อความสั้นที่ผู้เชี่ยวชาญสามารถสรุปเรื่องยาวๆ ให้สั้น เวลาอ่านแล้วรู้สึกตกใจและอันตรายมาก

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า องค์กรกำกับเกิดได้ยาก จะเอาองค์กรไหนมากำกับ ช่วงที่เป็นฝ่ายค้านตนก็ไม่เห็นด้วยกับกระทรวงไอซีที เพราะไม่มีหลักประกัน จึงต้องหาความพอดี ที่ผ่านมาจะเห็นว่าถ้าได้เร็วเราก็ได้กรรมการไม่ดี ถ้าจะได้คนดีมาเป็นกรรมการก็มีการร้องเรียนกันไปมา จึงได้มอบโจทย์ให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปหาความพอดีและอิสระ อย่าทำให้เรื่องยุ่งยากหรือเกิดการร้องเรียนจนไม่มีกรรมการทำงานได้ ประการถัดมาก็มีความเป็นห่วงเรื่องหลักประกันของสื่อบางประเภท เช่น สื่อชุมชนหรือสื่อเชิงสาธารณะ ที่ผ่านมากฎหมายของรัฐบาลก่อน ไม่ได้กำหนดสัดส่วนเอาไว้ จึงควรจะมีสัดส่วน เพื่อเป็นหลักประกันในการกระจายสื่อ บางเวลาต้องมีสาระสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อของใคร

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราคิดว่าปล่อย ที่สุดคือประชาชนอาจจะไม่ได้มีโอกาสซึมซับบางเรื่อง เพราะประชาชนจะหนีรายการที่มีสาระ แต่อะไรที่เป็นเนื้อหาสาระก็ควรมี แต่ไม่ใช่มีสาระเพียงหนึ่งหรือสองแล้วปล่อยให้เป็นเรื่องธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่จะสนับสนุน แต่สำหรับสื่อของรัฐต้องมีการเปลี่ยนแปลง เดิมคิดว่าถ้าให้ไอทีวีเดิมเป็นทีวีเสรีแล้วเปลี่ยนช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ (เอ็นบีที) เป็นทีวีสาธารณะ ช่อง 11 จึงอยู่ในฐานะที่ต้องมาคิดกันว่าจะมีรูปแบบใด แต่ความจริงอยากเป็นรูปแบบสาธารณะ อย่างไรก็ตาม พื้นที่สำหรับราชการหรือรัฐต้องมีเพื่อการชี้แจง แต่ไม่ใช่นำไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง แม้เส้นแบ่งอาจจะยาก แต่โดยสำนึกแล้วสามารถแบ่งได้ การทำงานคือการอธิบายชี้แจงถึงมาตรการที่ได้ผลักดันออกไปว่าทำด้วยอะไร ใช้เหตุผลอะไร ใช้เพื่อทำลายคู่แข่งในทางการเมืองไม่ได้ ส่วนเวลาสำหรับฝ่ายค้านก็ควรมี แม้จะเป็นการเมืองมาก เพราะฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบ แต่อยากให้เป็นเชิงแลกเปลี่ยนในมุมมองของนโยบาย ไม่ใช่ตอบโต้กันทางการเมือง เพราะสามารถใช้พื้นที่การนำเสนอข่าวได้ทุกวันอยู่แล้ว

"สำหรับข่าวโทรทัศน์วันนี้ที่มีการคุยข่าวไปเรื่อยๆ เป็นอันตราย แม้ข้อดีคนจะได้มีความเพลิดเพลิน แต่อันตรายของการคุยข่าวคือ การชี้นำ เพราะไม่เหมือนกับการอ่านข่าวหรือประกาศข่าวอย่างที่เราเห็นในอดีต ถ้าคุยอย่างเดียวไม่มีข่าวก็น่าเป็นห่วง เพราะมีการชี้นำตั้งแต่คำพูดไปจนถึงสีหน้าที่เราสัมผัสอยู่ทุกวัน แต่ก็ไม่อยากให้รัฐเข้าไปยุ่ง องค์กรวิชาชีพควรเอาปัญหานี้มาพูดคุยกัน ความพอดีและมาตรฐานควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี" นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับปัญหาวิทยุชุมชน นายกฯกล่าวว่า เข้าใจว่าข้อกฎหมายสับสนอยู่พอสมควร ก็ต้องพยายามทำให้กลับไปเป็นเจตนารมณ์เดิมคือเป็นสื่อของชุมชนจริงๆ ไม่ใช่เป็นช่องว่างของการมีคลื่นอยู่ในมือเพราะว่าไม่สามารถเข้าถึงคลื่น อื่นได้ หลักคิดนี้จะต้องใช้ แต่วิธีการขณะนี้เนื่องจากข้อกฎหมายและความเห็นขณะนี้ขัดแย้งและสับสนค่อน ข้างมาก ซึ่งกำลังคลี่คลายตรงนี้อยู่

ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำผู้ดำเนินรายการความจริงวันนี้ ระบุว่ามีการสั่งปิดวิทยุชุมชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่า ทราบดีว่าอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลวิทยุชุมชนมีมากแค่ไหน ที่ผ่านมา ไม่เคยสั่งปิดวิทยุชุมชนเลย แต่วิทยุชุมชนมีปัญหามากเพราะมีสภาพเป็นอนาธิปไตย โดยกฎหมายประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์นั้นเป็นอำนาจหน้าที่ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะต้องดูแลร่วมกับคณะอนุกรรมการ และอนุกรรมการก็มีปัญหามาก เพราะมีการทำผิดกฎหมายกันหลายส่วน ขณะนี้กำลังให้สำนัก งานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูกฎหมายว่าหน่วยงานใดสามารถไปดำเนินการตามกฎหมายได้ อย่างไรกับวิทยุชุมชนที่มีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม

"มีวิทยุชุมชนอยู่ไม่กี่ที่ที่มีปัญหา หลายที่ได้เตือนกันไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ปรับปรุงแก้ไข ก็ต้องมาดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบังคับ ใช้กฎหมายได้อย่างไร ตาม พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม กำหนดให้คนที่ดำเนินการเกี่ยวกับวิทยุชุมชนจะต้องขออนุญาตต่อ กทช. ซึ่งหากพบว่ามีการทำผิดกฎหมายก็สามารถตรวจยึดเครื่องส่งได้ทันที" นายสาทิตย์กล่าว

ทางด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) พร้อมด้วยเครือข่ายพลเมืองเน็ต และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความชัดเจนกรณีที่รัฐบาลเตรียมจะใช้ข้ออ้างเรื่องหมิ่นสถาบันและความมั่นคงเข้ามาจัดการอินเตอร์เน็ตและวิทยุชุมชน โดยจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง 2551

Tags:
%d bloggers like this: